เปิดตัวแอป Insight Wat Pho ชวนตามหา “ยักษ์วัดโพธิ์” ตัวจริงอยู่ที่ไหน

เปิดตัว “Insight Wat Pho” แอป นำเสนอองค์ความรู้ พร้อมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยรอบวัดโพธิ์ ผสานเทคโนโลยี AR ชวนเล่นเกมตามหา “ยักษ์วัดโพธิ์” ที่แท้จริง อยู่ตรงไหน ?

วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดตัวแอปพลิเคชั่นส่งเสริมการท่องเที่ยววัดโพธิ์ด้วยระบบ AR

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า หนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของ NIA คือการนำนวัตกรรมเพื่อสังคมมาช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้คลี่คลายจากภาวะวิกฤต

โดยปัญหาสังคมอันเนื่องมาจากการขยายตัวและการพัฒนาของเมือง มีหลายประการ เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสภาพความเป็นอยู่ การเตรียมความพร้อมในการเปิดเมืองเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความยั่งยืน

ดร.วิลาสินี สุขสว่าง ผู้เสนอโครงการ “เรียน รู้ รักษ์ ณ วัดโพธิ์” กล่าวว่า โครงการดังกล่าว มีเป้าหมายในการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมการเรียรู้ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมผ่านแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ รวบรวมสาระทางประวัติศาสตร์และองค์ความรู้ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่ววัดโพธิ์

ดร.วิลาสินี สุขสว่าง
ดร.วิลาสินี สุขสว่าง อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เสนอโครงการ

โดยโครงการดังกล่าวได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น “Insight Wat Pho” ซึ่งช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ด้วยระบบ AR โดยจะแสดงข้อมูลองค์ความรู้ และประวัติศาสตร์ที่สำคัญของวัดโพธิ์ เชื่อมโยงกับสถานที่จริงออกมาในรูปแบบแอนนิเมชั่นและกราฟิกถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งดึงดูดของวัดเพื่อเตรียมตัวเปิดรับนักท่องเที่ยวที่กำลังจะเดินทางมาประเทศไทยมากขึ้น

ภายในแอปพลิเคชั่น “Insight Wat Pho” ผู้ใช้งานสามารถศึกษาข้อมูลได้หลากหลายหมวดหมู่ เช่น ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับวัด แผนผังวัดโพธิ์ คลังภาพวัดโพธิ์ในอดีต สามารถสแกนสัญลักษณ์ตามที่ปรากฏภายในแอปพลิเคชั่น เพื่อรับชมแผนผังของวัดในรูปแบบ AR

ภาพ AR แผนผังวัดโพธิ์ บนแอปพลิเคชั่น Insight Wat Pho

ผู้ใช้งานยังสามารถเปิดใช้ฟังก์ชั่น “กลับแก้กลบท” โดยการเปิดกล้องถ่ายภาพกลบทที่กระจายอยู่ในส่วนรอบวิหารวัดโพธิ์ และบนหน้าจอจะปรากฏวิธีการอ่านกลบทโคลงรูปแบบต่าง ๆ พร้อมเสียงอ่านปรากฏแก่ผู้ใช้งาน

ผู้ใช้แอปพลิเคชั่น ใช้กล้องโทรศัพท์มือถือส่องไปยังบทกลอนบนผนัง ปรากฏวิธีการอ่านตามกลบทขึ้นมาบนหน้าจอ

นอกจากนี้ ยังมีเกร็ดความรู้น่าสนใจ เช่น “ยักษ์วัดโพธิ์” ที่แท้จริง อยู่ตรงส่วนไหนของวัดโพธิ์ และยักษ์เหล่านั้นมีชื่อว่าอะไร ผ่านในรูปแบบของเกมค้นหาตามจุดต่าง ๆ ของวัด

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเสริมว่า ในปี 2566 NIA ยังคงส่งเสริมนวัตกรรมที่สามารถผลักดันไปสู่การใช้งานจริง ตามแนวคิดการร่วมแรงหน่วยงานด้านการปกครอง องค์กรเอกชน องค์กรภาคสังคม และภาคประชาชน โดยเปิดรับนวัตกรรมที่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของเมืองและชุมชนได้ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. นวัตกรรมในกลุ่มซอฟต์พาวเวอร์ เช่น การเพิ่มมูลค่าให้กับศิลปวัฒนธรรม เทคโนโลยีด้านสื่อและการสื่อสาร

  1. นวัตกรรมสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาสินค้า บริการ หรือการจัดการ วัสดุหมุนเวียน และ 3. นวัตกรรมที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตทุกช่วงวัย ตั้งแต่เจเนอเรชั่นอัลฟ่าจนถึงเจเนอเรชั่นเบบี้บลูมเมอร์ เพื่อรับเงินสนับสนุนสำหรับดำเนินการจริงในพื้นที่ในวงเงินไม่เกินโครงการละ 1.5 ล้านบาท

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไชต์ https://social.nia.or.th/ หรือ facebook.com/niathailand