นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า สั่งการให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ทดลองปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเลือกเส้นทางนำร่อง 4-8 เส้นทางก่อน เนื่องจากต้องการให้เกิดความมั่นใจว่าประชาชนจะยอมรับได้การปฏิรูปเส้นทางได้ ผู้ประกอบการสามารถเดินรถได้จริงและสามารถแบ่งใบอนุญาตได้อย่างเท่าเดิม
เบื้องต้นนำร่องคงใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือนจึงสรุปผลดีผลเสีย จากนั้นจะเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ปัญหาสัญญาระหว่าง ขสมก. และรถร่วมฯ ขสมก. ซึ่งยังไม่สิ้นสุดลง
“เรื่องการใช้มาตรา 44 ก็ต้องรอผลก่อน เพราะคสช. มอบหมายให้เตรียมความพร้อม แต่ ขบ. ก็เป็นห่วงว่าถ้าปฏิรูป 269 เส้นทางในครั้งเดียว ในแง่ผู้โดยสารจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ในแง่ผู้เดินรถอาจจะต้องใช้เวลาบ้าง เพราะฉะนั้นต้องการทดลองให้เรียบร้อยก่อน” นายอาคมกล่าว
นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารรถประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ใหม่จำนวน 269 เส้นทาง โดยให้ทดลองเดินรถ 8 เส้นทาง ภายในเดือน ส.ค.นี้ เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อดูว่าส่งผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชนหรือไม่
ประกอบด้วย 1.สาย 189 เดิม สนามหลวง-กระทุ่มแบน เป็น สาย Y89 สถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน-กระทุ่มแบน 2.สาย 144 เดิม แยกลำลูกกา-นนทบุรี เป็น สาย G21 รังสิต-ท่าเรือพระราม 5 3.สาย 509 เดิม อู่วัดม่วง(เพชรเกษม 63)- สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) เป็น สาย Y61 หมู่บ้านเศรษฐกิจ-สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร)
การทดลองเดินรถทั้ง 8 สายนี้ จะยกเลิกเดินรถสายทางเดิมไปก่อนโดยใช้สายใหม่แทน เพื่อให้ทราบ ผลกระทบที่แท้จริง ส่วนค่าโดยสารยังเก็บอัตราเดิม หากผลการทดลองพบว่า กระทบกับประชาชน ก็จะกลับไปใช้เส้นทางเดิม
แต่หากได้รับผลตอบรับที่ดี จะเสนอให้ คสช. ใช้มาตรา 44 ปฏิรูปเส้นทางใหม่ 269 เส้นทาง พร้อมทั้งกำหนดอายุสัมปทานในออกใบอนุญาตเดินรถใหม่ในบางเส้นทาง โดยจะให้เส้นทางที่เดินรถมากกว่า 1 ราย ซึ่งมีประมาณ 33 เส้นทาง มีอายุสัมปทานเพียง 2 ปี จากเดิม 7 ปี เพื่อพิจารณาประสิทธิภาพในการให้บริการ และความพึงพอใจของประชาชนว่าเป็นอย่างไร ก่อนพิจารณาต่ออายุสัมปทานต่อไป
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับ 269 เส้นทางนี้ จะมี 10 เส้นทางที่เกิดขึ้นใหม่เลย โดยเตรียมเปิดประมูลการเดินรถ 2 เส้นทาง ในเดือน ส.ค.นี้ ได้แก่ สาย R26E สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์-โรงพยาบาลรามาธิบดี (ทางด่วน) และสาย Y70E ม.เทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา-สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต (ทางด่วน)
ซึ่งจะเปิดกว้างให้ใครก็ได้สามารถเข้ามาประมูลได้ เชื่อว่าจะมีเอกชนหลายรายสนใจ รวมทั้งกรุงเทพมหานครที่แจ้งว่าสนใจทุกเส้นทาง คาดว่าเดือน ก.ย. จะได้ผู้ชนะประมูล และเริ่มเดินรถให้บริการประชาชนไม่เกิน 1 ต.ค.นี้ ส่วนอีก 8 เส้นทางที่เหลืออยู่ระหว่างเจรจา เพราะมีบางจุดทับซ้อนกับเส้นทางที่เอกชนเดินรถอยู่ในปัจจุบัน คาดว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางได้เร็วๆ นี้
ที่มา ข่าวสดออนไลน์