“ยิ่งลักษณ์” สะอื้นร่ำไห้กลางศาล เเถลงปิดคดียันบริสุทธิ์เป็นผู้หญิงธรรมดาทำเพื่อ “กระดูกสันหลังชาติ”

“ยิ่งลักษณ์” สะอื้นร่ำไห้กลางศาล เเถลงปิดคดียันบริสุทธิ์เป็นผู้หญิงธรรมดาทำเพื่อ “กระดูกสันหลังชาติ” ระบุหน.คสช.ชี้นำ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 1 สิงหาคม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าวคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ได้นัดแถลงปิดคดีด้วยวาจา คดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อายุ 50 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี 28 เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายนับแสนล้านบาท

โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้เวลาแถลงปิดคดี 1 ชั่วโมงเต็ม ตั้งแต่ 09.30 – 10.30 น. ซึ่งเนื้อหายาวทั้งหมด 19 หน้า โดยการแถลงปิดคดีด้วยวาจานั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้อ่านถ้อยคำจากเอกสารดังกล่าวต่อหน้าศาล กล่าวยืนยันว่า ไม่ได้ละเลยหรือเพิกเฉยในการตรวจสอบเมื่อเกิดปัญหาโครงการจำนำข้าว และไม่ได้สมยอมปล่อยให้มีการทุจริตระบายข้าว และชี้ให้ศาลเห็นถึงความบริสุทธิ์และความตั้งใจดำเนินโครงการจำนำข้าวซึ่งเป็นนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่ได้แถลงต่อสภาอันมีผลผูกพันให้ต้องปฏิบัติตามและยังได้มีมติ ครม.รวม 6 ประเด็น

1.ข้อกล่าวของป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิด และฟ้องของอัยการโจทก์มีพิรุธ ไม่ชอบด้วยกฎหมายเริ่มกล่าวหาตนด้วยเอกสาร 329 แผ่น ใช้เวลาไต่สวน 79 วันและเร่งชี้มูลความผิดหลังจากศาล รธน.วินิจฉัยให้ตนพ้นจากตำแหน่งเพียง 1 วัน ทั้งที่ข้อกล่าวหาต่อคนอื่นเรื่องทุจริตระบายข้าวยังไม่มีข้อสรุป แล้วยังนำเอกสารกว่า 60,000 แผ่นในสำนวนคดีระบายข้าวเสมือนมาเป็นหลักฐานใหม่กล่าวหาตนทั้งที่ครั้งแรกในชั้น ป.ปช.ที่กล่าวหาตนยังไม่มีเอกสารส่วนนี้กระทั่งฟ้องตนแล้วจึงนำมาเสนอศาล

2.นโยบายจำนำข้าว เป็นนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่ต้องปฏิบัติตามและเป็นนโยบายสาธารณะที่ทำเพื่อชาวนา

3.ยืนยันไม่ได้เพิกเฉยเพราะมีการตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการต่างๆ เพื่อปฏิบัติการและถ่วงดุลอำนาจ ดังนั้นการดำเนินนโยบายจึงเป็นไปในรูปแบบของคณะกรรมการ มิใช่ตนในฐานะนายกฯ ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ที่นึกจะทำก็ทำ หรือนึกจะยกเลิกก็เลิก

4.โครงการจำนำไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายตามฟ้อง แต่เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจทั้งโดยตรงและทางอ้อม คือ ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาให้มีรายได้สูงขึ้น และยังส่งผลให้รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้นจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งสภาพัฒน์ ได้ยืนยันข้อมูลตรงกันว่าควรดำเนินโครงการไปจนถึงปี 2558 ซึ่งไทยกำลังขะเข้าสู่เออีซี

5.ยืนยันไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157 และกฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งกรณีที่ ป.ป.ช.และสตง.เคยมีหนังสือท้วงติงโครงการตนก็รับไว้ ไม่ได้ละเลยเพิกเฉยข้อเสนอแนะนั้นแต่ส่งให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาตามสายบังคับบัญชากระทั่งมีการตั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบ และยังให้หน่วยงานในจังหวัดดูแลเรื่องการสวมสิทธิ์
แต่การยับยั้ง ก็ไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลเข้าซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินในฐานะนายกฯ ก็ต้องรับฟังหน่วยงานของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญ

6.ไม่ได้ปล่อยปละให้ทุจริตระบายข้าว ซึ่งข้อกล่าวหานั้นเป็นเรื่องระดับปฏิบัติการมีคณะกรรมการรับผิดชอบและเป็นเรื่องกรมการค้าต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ดูแล โดย ครม.ใช้ความระมัดระวังใส่ใจเรื่องการระบายข้าวโดยมีมติกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการป้องกันการทุจริตในการนะบายข้าวให้เข้มงวดขึ้นซึ่งการดำเนินการนั้นเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องระบายข้าวแบบจีทูจี

ทั้งนี้ระหว่างการแถลงปิดคดีด้วยวาจา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถึงกับสะอื้นเมื่อกล่าวถึงการเป้าหมายการดำเนินนโยบายเพื่อประโยชน์ชาวนา

โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า “ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด แต่สิ่งที่ทำคือ ใช้ประสบการณ์ของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่เกิดในต่างจังหวัดมีโอกาสได้รับรู้สัมผัสความทุกข์ยากแสนสาหัสของชาวไร่ชาวนา ซึ่งประเทศนี้เคยเรียกว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติและเรียกร้องให้คนไทยทุกคนเกื้อหนุนดูแล และดิฉันก็ได้ทำแล้วในโครงการรับจำนำข้าว แม้การผลักดันนโยบายสาธารณะเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชาวนาครั้งนี้จะทำให้ดิฉันต้องเจ็บปวดก็ตามในการต้องอดทนต่อสู้คดีกับฝ่ายโจทก์ ที่พยายามบิดเบือนและกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม สุดท้ายก่อนที่ศาลจะตัดสินคดีนี้ดิฉันใคร่ขอวิงวอนศาลได้โปรดพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานที่เข้าสู่สำนวนโดยชอบและโดยสุจริต ไม่รับฟังการชี้นำจากฝ่ายใดๆแม้แต่หัวหน้า คสช.ผู้กุมชะตาและอำนาจรัฐที่พูดชี้นำคนในสังคมเกี่ยวกับคดีของดิฉันเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ถ้าเรื่องนี้ไม่ผิดแล้วจะเข้าสู่กระบวนพิจารณาได้อย่างไร ซึ่งความพูดนี้เป็นการชี้นำเสมือนว่ามีการกระทำผิดแล้ว ทั้งๆที่ศาลยังไม่ได้ตัดสิน จึงขอความเมตตาศาลโปรดพิจารณาพิพากษายกฟ้อง ”

ภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดีด้วยวาจาแล้ว องค์คณะฯ ก็ได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณาให้ยกคำร้องล่าสุดของจำเลยที่ยื่นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 ที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งและกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบกรณีไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ2560 มาตรา 212 เนื่องจากศาลเห็นว่าเเม้อำนาจที่สั่งว่าจะไม่รับหรือไม่รับคำร้องเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เเต่อำนาจวินิจฉัยก่อนที่จะส่งศาล รัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรมมีอำนาจวินิจฉัยก่อนว่าเข้าข้อกำหนดในการส่งหรือไม่ ใช่ว่าต้องส่งทุกกรณี ดังแนวคำพิพากษาศาลฎีกา 10660/2553 การที่ไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่ใช่เพราะมีกระบวนพิจารณาผิดระเบียบจึงให้ยกคำร้อง โดยศาลนัดให้ฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ เวลา 09.00 น.ตามนัดเดิม

 

ที่มา : มติชนออนไลน์