คุยกับ “สตางค์โปร” แนะไทยปักธงฮับสินทรัพย์ดิจิทัล

สรัล ศิริพันธ์โนน
สัมภาษณ์

โลกการเงิน การลงทุนทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และคงไม่กลับมาเหมือนเดิมอีก ตั้งแต่มีการใช้ประโยชน์จากบล็อกเชนมาทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ (ฟินเทค) และการซื้อขายเงินสกุลดิจิทัลต่าง ๆ แม้ช่วงนี้กระแสคริปโตเคอร์เรนซีจะเป็น “ขาลง” จากหลายปัจจัย แต่สำหรับนักลงทุนรุ่นใหม่ การลงทุนใน “สินทรัพย์ดิจิทัล” ยังน่าสนใจ

ในฝั่งผู้ประกอบการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลก็มีผู้ประกอบการหลายราย ด้วยกัน นอกจากบิทคับ, ซิปแม็กซ์ และอัพบิท ก็มี “สตางค์ โปร” อีกราย ซึ่งถือได้ว่าเป็นเจ้าแรกที่บุกเบิกธุรกิจนี้ในบ้านเรา

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “สรัล ศิริพันธ์โนน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลสัญชาติไทย “Satang Pro” ดังนี้

Q : การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลไทย

ในแง่ผู้ใช้บริการในไทย มี 7-10 ล้านราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงาน 80-90% เรียกว่าเป็น นักเทรดสายซิ่ง ที่เหลือ 10-20% เป็นกลุ่มที่นิยมซื้อเก็บเพื่อการลงทุนระยะยาว

ต้องยอมรับว่ากลุ่มใหญ่ในบ้านเรา คือ นักเทรดสายซิ่ง ที่เปิดพอร์ต 500-2,000 บาท มูลค่าการซื้อขายต่อวันไม่สูง ประมาณ 2,000-3,000 บาท หรือถ้าเฉลี่ยแล้วมีการลงทุนเดือนละ 10,000-20,000 บาท

สำหรับฐานลูกค้าหลักของ Satang Pro จะเป็นกลุ่มที่ซื้อเพื่อการลงทุนระยะยาว เพราะคู่เหรียญที่เราเลือกเข้ามาในกระดานของเราค่อนข้างแข็งแรง แม้คนเทรดน้อยแต่มูลค่าการซื้อขายค่อนข้างสูง โดยภาพรวมในปี 2564 ที่ผ่านมา มีการซื้อขายบนแพลตฟอร์มของ Satang Pro เฉลี่ย 100-200 ล้านบาทต่อวัน

Q : การกำกับดูแลของภาครัฐ

ถ้าในส่วนที่เกี่ยวกับร่างประกาศเกี่ยวกับการกำกับดูแลผู้ให้บริการ กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล ที่รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (DA custodial wallet provider) และการให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล (wallet) ของลูกค้า ผลกระทบที่ออกมา บางอย่างไปไกลกว่านั้น

พูดง่าย ๆ คือ ห้ามศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลโปรโมต ห้ามนำคริปโตเคอร์เรนซีไปชำระค่าสินค้า ซึ่งคำนิยามค่อนข้างกว้าง

หมายรวมไปถึงบริการดิจิทัลบล็อกเชน การซื้อขาย NFT (nonfungible token) การเข้าร่วมโปรเจ็กต์การเงินแบบไร้ตัวกลาง DeFi (decentralize finance) โมเดลธุรกิจแบบ play to earn ด้วยหรือไม่ ทุกอย่างยังไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการเองไม่แน่ใจ

โปรเจ็กต์ที่เราเตรียมทำหลายโปรเจ็กต์ก็อาจต้องหยุดรอให้กฎเกณฑ์ชัดเจนก่อน เพราะถ้ากฎไม่ชัด ก็เดินหน้าต่อไม่ถูก ถ้าในท้ายที่สุดไม่สนับสนุนให้นำคริปโตเคอร์เรนซีมาใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า เราก็ต้องทำตามกฎ

Q : พัฒนาการตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทย

Satang Pro เปิดให้บริการมา 3 ปี แต่ในปีที่ผ่านมา การรับรู้เรื่องเทคโนโลยีบล็อกเชนสินทรัพย์ดิจิทัลของคนไทยมีมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการในไทยก็พัฒนาโปรดักต์ด้านสินทรัพย์ดิจิทัลได้ในระดับที่ดี ลูกค้าเพิ่มขึ้น

น่าจะเป็นโอกาสที่สำคัญ ที่ผ่านมาจะสังเกตเห็นว่าผู้กำกับดูแล (regulator) มีบทบาทในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น ธุรกิจนี้เป็นนวัตกรรมเหมือนนวัตกรรมที่ผ่านมา ทั้งรถยนต์ มือถือ หรืออย่างตอนอินเทอร์เน็ตบูม ๆ เรามีสตาร์ตอัพที่ออกไปเติบโตต่างประเทศได้

ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยพลาดมาแล้วทุกโอกาส เมื่อ ก.ล.ต. และหน่วยงานกำกับหลายฝ่ายให้โอกาส เราก็คว้าโอกาสนี้มา ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ค่อนข้างเปิดในการดำเนินธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเราคว้ามันไว้ได้แล้ว และอยากให้ไปต่อได้ ถ้าเทียบเพื่อนบ้าน เราล้ำกว่า ก็อยากให้รับโอกาส และคว้ามันไว้ ทำให้เป็นฮับของเอเชียให้ได้

โอกาสของการนำบล็อกเชนมาใช้ ผู้ประกอบการไทยทำได้ดี ไม่ยากที่กลายเป็นฮับของเอเชีย โดยจะสามารถดึงนักลงทุน ดึงเงินทุนใหม่ ๆ ให้ไหลเข้ามาได้ ถ้าโดนเตะตัดขาดตอนนี้ก็จะไปต่อไม่ได้

ทั้งนี้เราอยากเห็นนโยบายต่าง ๆ ที่ออกมา มีความชัดเจน ถ้าให้ดี ประเทศไทยควรมีแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจสินทรัพย์ดิจิทัล อาจจะเป็นแผน 10 ปี 20 ปีก็ได้ เราจะได้รู้ว่าเราจะไปทางไหนกัน ผู้ประกอบการแต่ละฝ่าย สามารถที่จะสนับสนุนแผนนั้นได้อย่างไรบ้าง

Q : แผนการขยายธุรกิจปีนี้

ในการบริการของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลคงไม่แตกต่าง ผู้ประกอบการยังแข่งขันกันที่การตลาด ดังนั้น ในปีนี้เราจะรุกทำตลาด ประชาสัมพันธ์มากขึ้น เพื่อสร้างการจดจำในฐานะการเป็นแพลตฟอร์มที่ให้ความรู้กับนักลงทุน และมีแผนขอใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มเติม เพื่อเติมเต็มบริการให้ครบวงจร

โดยอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset broker) และผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเค็นดิจิทัล (ICO portal) จาก ก.ล.ต. (ปัจจุบันมีเพียงใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล)

และจะขยายการลงทุนไปยังธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้ง NFT การออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้า และบริการ ซึ่งส่วนนี้ต้องติดตามผลการรับฟังความเห็นของ ก.ล.ต.ก่อนที่จะเดินหน้าลงทุน

เบื้องต้น ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแผนออกหลักเกณฑ์อนุญาตให้ใช้ stable coin หรือเหรียญดิจิทัลที่สามารถคงมูลค่า เพื่อใช้เป็นสื่อกลางการชำระเงินได้ ซึ่งต้องรอนิยามที่ชัดเจนก่อน

Q : ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าอย่างไร

ปีนี้ค่อนข้างที่จะตอบยาก เนื่องจากกฎหมายการกำกับดูแลยังไม่ชัดเจน แต่อยากขยายฐานลูกค้าให้ได้ประมาณ 1 ล้านราย ปัจจุบันมีบัญชีลูกค้าที่ซื้อขายประจำ (active user) อยู่ที่ 2 แสนบัญชี (บัญชีที่ยืนยันตัวตนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว (e-KYC)) ถ้านับกลุ่มที่ยังไม่ยืนยันตัวตนแบบ e-KYC ก็มีอยู่ประมาณ 3 แสนบัญชี

Q : มีแผนออกโทเค็นของตัวเอง

เคยตั้งใจว่าจะออกโทเค็นเองเข้าไปปรึกษาหน่วยงานที่กำกับดูแลตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งมีเกณฑ์เกี่ยวกับยูทิลิตี้ (utility) พร้อมใช้ และไม่พร้อมใช้ ตอนนั้นคือ แค่การหาลูกค้ามาใช้แพลตฟอร์ม สร้างลอยัลตี้ และการออกและเสนอขายบนกระดานเทรดของเรา ซึ่งไม่ใช่การระดมทุน แต่ท้ายที่สุดหน่วยงานผู้กำกับดูแลบอกว่า ทำไม่ได้ ทำให้เราตัดสินใจที่จะไม่ทำ

ขณะที่รายอื่นออกโทเค็นของตัวเอง และเทรดบนกระดานตัวเองแล้ว ทำให้กลับมารื้อโปรเจ็กต์และกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะทำหรือไม่ทำ แต่ระหว่างที่มีการพิจารณาก็มีกฎออกมาควบคุมส่วนนี้ ทำให้ต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้ง