“อาคเนย์ฯ” ปิดกิจการ เปิดขั้นตอนยื่นขอเงินคืน กองทุนประกันวินาศภัย

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อาคเนย์ประกันภัย

คปภ.เปิดขั้นตอนยื่นขอเงินคืนจากกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระหนี้แทน “อาคเนย์ฯ-ไทยประกันภัย” หลังถูกเพิกถอนใบอนุญาต

วันที่ 5 เมษายน 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ได้เผยแพร่การดำเนินการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัย กรณีการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)

โดยกรมธรรม์ประกันภัยอื่นที่ไม่ใช่กรมธรรม์โควิด-19 ของบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำนวน 5.71 ล้านกรมธรรม์ และของบริษัทไทยประกันภัยจำนวน 1.99 ล้านกรมธรรม์ ได้จัดการหรือโอนภาระผูกพันไปยังบริษัทประกันภัยผู้รับโอนโดยไม่กระทบต่อสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์ของผู้เอาประกันที่ได้รับความคุ้มครองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ จะมีกรมธรรม์ประกันภัยอื่นที่ไม่ใช่กรมธรรม์โควิดส่วนที่เหลือจำนวน 269 กรมธรรม์ ที่ผู้เอาประกันไม่ประสงค์ใช้สิทธิในการโอนกรมธรรม์ไปยังบริษัทผู้รับโอนอื่น คปภ.จะเร่งติดตามให้บริษัทแจ้งสิทธิเพื่อให้ผู้เอาประกันตัดสินใจทางเลือกในการคืนเบี้ยหรือการโอนกรมธรรม์ ซึ่งการโอนกรมธรรม์ไปยังบริษัทแห่งใหม่ ผู้เอาประกันจะได้รับความคุ้มครองอย่างต่อเนื่องจนหมดอายุสัญญา

ในส่วนของกรมธรรม์ประกันโควิด คปภ.ได้หารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทยและภาคธุรกิจ เพื่อร่วมกันหาแนวทางและแก้ไขปัญหาสำหรับจำนวนกรมธรรม์ประกันโควิดแบบเจอ จ่าย จบ ที่ยังมีความคุ้มครองอยู่ 1.17 ล้านกรมธรรม์ของบริษัทอาคเนย์ประกันภัยจำนวน 8.9 แสนกรมธรรม์ และของบริษัทไทยประกันภัยอีก 2.79 แสนกรมธรรม์

เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมในการดูแลความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกัน และสนับสนุนการปฏิบัติงานของกองทุนประกันวินาศภัย โดยสรุปมาตรการช่วยเหลือ ดังนี้

1.ผู้เอาประกันที่ได้รับความเสียหายแล้ว (เคลมโควิด)

– ยื่นเรียกร้องความเสียหายแล้ว ให้ยื่นขอรับชำระหนี้จากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนจะเข้ารับช่วงจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์หรือผู้มีสิทธิเรียกร้องตามที่ได้มีการอนุมัตค่าสินไหมทดแทนไว้แล้ว

– ยังไม่ได้ยื่นเรียกร้องความเสียหาย ให้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนจะพิจารณาค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขกรมธรรม์

2.ผู้ถือกรมธรรม์ประกันโควิดที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่

– ขอรับคืนเบี้ยประกันที่เหลือจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยให้ยื่นขอรับชำระหนี้จากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนจะคืนเบี้ยให้ตามส่วนระยะเวลาตามความคุ้มครองที่เหลืออยู่

– นำเบี้ยประกันที่จะได้รับคืนไปใช้แทนเงินสดในการเลือกซื้อประกันภัย จากบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการได้ทุกประเภทกรมธรรม์ประกันภัย

ทั้งนี้ คปภ.ร่วมกับกองทุนประกันวินาศภัย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เตรียมหมายเลขโทรศัพท์ 124 คู่สายทั่วประเทศ เพื่อตอบข้อซักถามเกี่ยวกับเรื่องนี้แยกเป็น

– กองทุนประกันวินาศภัย (ในฐานะผู้ชำระบัญชี) ผ่านช่องทางโทรศัพท์พื้นฐาน หมายเลข 0-2791-1444 (จำนวน 5 คู่สาย)

– สำนักงาน คปภ.ผ่านระบบสายด่วน คปภ. 1186 (จำนวน 10 คู่สาย)

– สำนักงาน คปภ.ผ่านระบบช่องทางโทรศัพท์พื้นฐานหมายเลขส่วนกลาง หมายเลข 0-2515-3999 ถึง 0-2515-3999 กด 0 (จำนวน 11 คู่สาย)

– สำนักงาน คปภ.ภาค และสำนักงาน คปภ.จังหวัดทั่วประเทศ ตามหมายเลขโทรศัพท์ของสำนักงาน คปภ.ภาค และสำนักงาน คปภ.จังหวัด (จำนวน 78 คู่สาย)

– สมาคมประกันวินาศภัยไทย ผ่านระบบช่องทางโทรศัพท์พื้นฐานหมายเลข 02-108-8399 (จำนวน 20 คู่สาย)

หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมช่องทางออนไลน์ Chatbot “คปภ. รอบรู้” (LINE@OICConnect) และเว็บไซต์ คปภ. www.oic.co.th

ทั้งนี้ ได้จัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำ รับเรื่องร้องเรียน และอำนวยความสะดวกในการรับคำขอรับชำระหนี้ รวมทั้งการสนับสนุนบุคลากรในการรับคำขอรับชำระหนี้ ทั้งที่สำนักงาน คปภ.ส่วนกลาง และสำนักงาน คปภ. ส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัยและประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง

หากเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีของทั้งสองบริษัท ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยกำหนดในประกาศ โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนาจำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้

1) กรมธรรม์ประกันภัย
2) บัตรประจำตัวประชาชน
3) ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ และ
4) หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล)

และหากเป็นเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้นำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ ต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 1 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้

1) หลักฐานแสดงถึงมูลหนี้
2) บัตรประจำตัวประชาชน และ
3) หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล)

ในกรณีที่หากเจ้าหนี้ไม่สามารถยื่นได้ด้วยตนเองจะต้องมีหนังสือมอบอำนาจโดยติดอากรแสตมป์ 30 บาท พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ ยื่นต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีของทั้งสองบริษัท

“การเพิกถอนใบอนุญาตของทั้งสองบริษัทในครั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัย และเพื่อให้กองทุนประกันวินาศภัยเข้ามาดูแลการชำระหนี้ตามสัญญาประกันภัย ในการนี้ท่านรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลังได้กำชับให้ดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ เพื่อมิให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยเดือดร้อน

โดยสำนักงาน คปภ.จะบูรณาการร่วมกับกองทุนประกันวินาศภัย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย ช่วยบรรเทาเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มที่

รายงาน คปภ.ระบุว่า โดยปกติถ้าบริษัทประกันภัยประกอบธุรกิจขาดทุน ไม่มีเงินจ่ายแก่ลูกค้าแล้ว ลูกค้าต้องไปฟ้องศาลเรียกร้องเอาเอง ซึ่งยากและใช้เวลานานกว่าที่จะได้เงิน แต่กรณีเรื่องประกันภัยมี พ.ร.บ.ประกันวินาศภัยกำหนดให้กองทุนประกันวินาศภัยเข้ามาช่วยเยียวยาจ่ายหนี้แทนบริษัทเพื่อคุ้มครองผู้เอาประกันภัย

แต่ต้องทำตามกระบวนการของกฎหมาย ซึ่งกรอบเวลากำหนดโดยชัดเจนในมาตรา 60/3 แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย ที่กำหนดให้เจ้าหนี้ยื่นคำทวงหนี้ต่อผู้ชำระบัญชีภายในระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ผู้ชำระบัญชีประกาศกำหนด ซึ่งนับว่าค่อนข้างนาน เพราะปกติถ้าบริษัทประกันภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาต กรมธรรม์ควรจะสิ้นสุดตามไปด้วย แต่กฎหมายกำหนดกรอบเวลาเพื่อให้มีการบอกเลิกกรมธรรม์เพื่อคุ้มครองผู้เอาประกัน