ทำไมนายกฯ ริชี ซูแน็ก ถึงว่า ยุคทองจีน-อังกฤษ จบลงแล้ว

British Prime Minister Rishi Sunak, November 28, 2022. REUTERS/Toby Melville

จากหวานกลายเป็นขม ยุคทองจีน-อังกฤษ จบไปแล้ว นายกฯ ซูแน็ก แห่งสหราชอาณาจักร กล่าวให้เข้าใจกันชัด ๆ

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อังกฤษ-จีน ที่ตึงเครียดขึ้นจากกรณีจ้าหน้าที่จีนทำร้ายและจับกุมนักข่าว บีบีซี จากอังกฤษ ที่เข้าไปรายงานเหตุการณ์ชาวจีนลุกฮือประท้วงมาตรการล็อกดาวน์ของทางการในนครเซี่ยงไฮ้

กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ เรียกนายเจิ้ง เจอฉวง เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงลอนดอน เข้าพบเพื่อประท้วง เหตุการณ์ที่นายเอ็ด ลอว์เรนซ์ นักข่าวบีบีซี ถูกทำร้ายขณะบันทึกภาพการประท้วงของชาวจีน ช่วงค่ำวันอาทิตย์ที่ 27 พ.ย. ทั้งยังถูกจับกุมไปนานหลายชั่วโมง ก่อนเจ้าหน้าที่จีนปล่อยตัวออกมา

 

นายเจมส์ เคลฟเวอร์ลี รมว.ต่างประเทศอังกฤษ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้รบกวนจิตใจอย่างยิ่ง

ช่วงเดือนนี้ รัฐบาลอังกฤษเพิ่งแสดงความวิตกถึงรายงานว่า ทางการจีนส่งตำรวจนอกเครื่องแบบแทรกซึมเข้าไปจัดการกับผู้เห็นต่างในประเทศอื่น ๆ รวมถึงอังกฤษ

เหตุการณ์เจ้าหน้าที่กงสุลจีนในเมืองแมนเชสเตอร์ ทำร้ายชาวฮ่องกงที่เคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย ทำให้กระทรวงต่างประเทศอังกฤษต้องเรียกนักการทูตจีนเข้ามาประท้วงแล้วครั้งหนึ่ง จนเป็นแรงกดดันให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรของนายกฯ ริชี ซูแน็ก ต้องกล้าชนจีนอย่างแข็งกร้าวขึ้น

British Prime Minister Rishi Sunak delivers a speech during the annual Lord Mayor’s Banquet at Guildhall, in London, Britain November 28, 2022. REUTERS/Toby Melville

เมื่อวันจันทร์ที่ 28 พ.ย. นายซูแน็กกล่าวสุนทรพจน์ด้านการต่างประเทศครั้งแรก ระหว่างร่วมงานเลี้ยงประจำปี ลอร์ด เมเยอร์ โดยเอ่ยชัดเจนว่า ยุคทองระหว่างอังกฤษกับจีนได้จบไปแล้ว

ความท้าทายอย่างเป็นระบบของทางการจีนที่มีต่อผลประโยชน์และอุดมการณ์ของอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จีนพยายามแข่งขันเพื่อเพิ่มอิทธิพลในโลกโดยใช้อำนาจรัฐทุกด้าน

“ขอให้ชัดเจนเลยนะครับว่า สิ่งที่เรียกว่า ยุคทองนั้นจบไปแล้ว พร้อมกับความคิดที่ไร้เดียงสา ว่าการค้าจะนำไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองและสังคม” นายกฯ ซูแน็ก กล่าวย้อนถึงคำพูดของนายจอร์จ ออสบอร์น อดีต รมว.คลังอังกฤษ เคยบรรยายถึงความสัมพันธ์ จีน-อังกฤษ เมื่อปี 2558

British Prime Minister Rishi Sunak delivers a speech during the annual Lord Mayor’s Banquet at Guildhall, in London, Britain November 28, 2022. REUTERS/Toby Melville

รายงานระบุว่า สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมบางคน มองว่า นายซูแน็กมีนโยบายสายเหยี่ยวต่อจีน มากกว่านางลิซ ทรัสส์ นายกฯคนก่อน โดยเมื่อปีก่อน ตอนที่นายซูแน็กเป็น รมว.คลัง เคยเสนอยุทธศาสตร์ที่จะบีบให้จีนสร้างสมดุลเรื่องสิทธิมนุษยชน ระหว่างที่จะมาขยายความสัมพันธ์กับอังกฤษ

นอกจากนี้ เมื่อหมายพบปะระหว่างนายซูแน็ก กับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง บนเวทีการประชุม G20 ล้มเลิกไป ก็มีเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องตามมาว่า รัฐบาลอังกฤษสั่งห้ามติดตั้งกล้องสำหรับภารกิจความมั่นคงที่ผลิตในจีน ที่บรรดาสำนักงานรัฐบาลที่สุ่มเสี่ยงของจีน

“เราถือว่าจีนใช้ความท้าทายอย่างเป็นระบบต่ออุดมการณ์และผลประโยชน์ของเรา ขณะที่จีนเดินหน้าสู่การเป็นรัฐเผด็จการ”

FILE PHOTO : ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง มาประชุมเวทีจี-20 แต่ไม่ได้พบปะทวิภาคีกับนายกฯ อังกฤษ เมื่อ 16 พ.ย. 2022. REUTERS/Willy Kurniawan/

“แน่นอนว่าเราไม่อาจจะเพิกเฉยต่อการแสดงบทบาทของจีน เพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้กับโลก หรือประเด็นสำคัญอย่าง ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ซึ่งทางสหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศมากมายที่เข้าใจในจุดนี้”

นายซูแน็กกล่าวด้วยว่า ภายใต้การบริหารของตน อังกฤษจะไม่เลือกสถานภาพปัจจุบัน และจะเผชิญหน้ากับคู่แข่งระหว่างประเทศ ไม่ใช่ด้วยสำนวนโวหารฮึกเหิม แต่เป็นการลงมือปฏิบัติจริง

ยุคทองของจีน-อังกฤษ

จากข้อมูลประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุคทองจีน-อังกฤษ หรือ Golden Era of Sino-British Relations เริ่มขึ้นเมื่อสงครามเย็นปิดฉากลง และเกิดข้อตกลงถึงการส่งมอบคืนฮ่องกงในอนาคต

ระหว่างนั้นสองดินแดนส่งผู้แทนระดับสูงเดินทางเยือนกันบ่อยครั้ง ทั้งมีข้อตกลงทางการค้าและการทหารร่วมกันตามมา

ตำรวจปราบปรามการประท้วงของนักศึกษาฮ่องกง

ยุคทองจีน-อังกฤษ ดำเนินมานานกว่า 20 ปี กระทั่งเกิดเหตุประท้วงของกลุ่มประชาธิปไตยและคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง ปี 2562-2563 ที่ทางการจีนเข้าแทรกแซง ตามมาด้วยการออกกฎหมายด้านความมั่นคงเพื่อควบคุมสิทธิพลเมืองของฮ่องกง ทั้งที่ยังไม่ผ่านพ้นช่วงเวลาการใช้นโยบาย หนึ่งประเทศ สองระบบ ที่กำหนดไว้ 50 ปี นับจากการส่งมอบคืนฮ่องกง ปี 2540

……..