กระตุ้น “บริษัทญี่ปุ่น” ปฏิรูปองค์กร ดึง “ต่างชาติ” เข้าทำงานมากขึ้น

เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศหาแรงงานเข้ามาทำงานในประเทศเพิ่มขึ้น ภายหลังจากขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว โดยเฉพาะในส่วนภาคก่อสร้าง รวมไปถึงงานด้านทักษะ หรืองานด้านไอที เนื่องจากขาดแคลนวิศวกรไอทีอย่างหนัก และบริษัทญี่ปุ่นหลายรายก็ได้เดินหน้าพัฒนาหุ่นยนต์กันอยู่

เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา จึงกลายเป็นปีแรกที่ยอดแรงงานต่างชาติทะลุ 1.28 ล้านคน จากปี 2008 ที่มี 486,000 คน ไม่ใช่รัฐบาลเท่านั้นที่ตระหนักถึงความขาดแคลน บรรดาบริษัทใหญ่ในญี่ปุ่นก็เช่นกัน ที่ต้องการเสริมทัพด้วยแรงงานต่างชาติ ที่จะสามารถเข้ามาสร้างไอเดียและความแปลกใหม่ให้กับบริษัท และนำพาบริษัทไปสู่สากลได้

อย่างไรก็ตาม การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น แม้ดูจะเป็นตัวเลือกน่าสนใจ ไม่ว่าจะสำหรับคนเอเชีย หรือชาวตะวันตก แต่เส้นทางการเข้าทำงานแม้กระทั่งการรับเข้าทำงานดูจะไม่ราบรื่นอย่างที่คิด

สาเหตุสำคัญเพราะญี่ปุ่นมีลักษณะความเป็นองค์กรที่เป็นเอกลักษณ์ที่หาใครเปรียบยาก ขณะเดียวกันระบบการศึกษาของญี่ปุ่น ก็ถูกออกแบบให้เป็นระบบที่มุ่งตรงที่จะส่งให้นักเรียนเข้าไปทำงานในบริษัทใหญ่ของประเทศ ทำให้นักศึกษาที่จบการศึกษาจากหลักสูตรหลากหลายทั่วโลก รู้สึกว่าช่างยากเหลือเกินในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมองค์กร

“นางิสะ อิโนอุเอะ” อดีตกรรมการผู้จัดการของ “โกลด์แมน แซกส์” ญี่ปุ่น เขียนบทความให้กับ “นิกเคอิ อาเซียน รีวิว” โดยเล่าผ่านประสบการณ์การทำงานและการทำวิจัยของเธอเอง

อิโนอุเอะบอกว่า แม้รัฐบาลจะเปิดให้มีการรับชาวต่างชาติเข้ามาเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนประเทศมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงมันไม่ง่ายเช่นนั้น ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่มีใครเหมือน ดังนั้นหากต้องการเพิ่มจำนวนแรงงานต่างชาติ บรรดาบริษัทญี่ปุ่นจะต้องปฏิรูปภายในองค์กรของตัวเอง เพราะปัจจุบัน ชาวต่างชาติมักได้รับเงินเดือนน้อยกว่า ได้รับงานที่ไม่ตรงกับความสามารถในบางที และไม่ค่อยได้รับการโปรโมตตำแหน่ง ทั้งที่มีความสามารถ

วัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่น เริ่มต้นมาตั้งแต่ระบบการศึกษา ที่เป็นระบบระเบียบ ทำให้บรรดานักเรียนไม่เห็นโลกกว้างนัก นอกจากนี้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ไม่ให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ นักศึกษาที่จบออกมาจากมหาวิทยาลัยทุกคนจึงเล็งหางานแค่ภายในประเทศ

และเมื่อเริ่มต้นทำงานก็จะทุ่มเทให้กับงาน และต้องการให้งานที่เริ่มต้นเป็นงานระยะยาว เมื่อถึงจุดหนึ่งจะได้รับการโปรโมตและเลื่อนขั้นทำไปจนเกษียณ เนื่องจากเมื่ออายุล่วง 30-40 ปีแล้ว โอกาสการหางานใหม่มีน้อยมาก ดังนั้นชาวญี่ปุ่นจึงเป็นประเทศที่มีการเทิร์นโอเวอร์ของแรงงานค่อนข้างต่ำ

พวกเขายอมเลือกงานที่อาจก้าวหน้าช้าแต่มั่นคงสามารถเติบโตสู่ตำแหน่งใหญ่ได้ในอนาคต มากกว่าที่จะเปลี่ยนไปทำงานที่ก้าวหน้าเร็ว แต่มีความท้าทายและมีโอกาสการโดนไล่ออก

นี่จึงกลายเป็นหนึ่งในอุปสรรคการเข้ามาทำงานของแรงงานชาวต่างชาติ ที่มีไมนด์เซตในการทำงานสุดขั้วโดยสิ้นเชิง เพราะแรงงานชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวตะวันตก มักมีนิสัยชอบความท้าทาย และชอบความเสี่ยง อยากทำงานที่ยาก และถ้าทำสำเร็จพวกเขาก็ต้องการได้รางวัลตอบแทน ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นตัวเงิน

แต่อาจเป็นหน้าที่การงานหรือความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นก็ได้ ซึ่งนิสัยเหล่านี้ด้านหนึ่งก็ไม่แมตช์กับผู้จ้างงานที่ชอบคนทำงานหนัก จงรักภักดีกับองค์กร และจะอยู่กันไปเป็นสิบ ๆ ปี

ดังนั้นการจะจ้างชาวต่างชาติให้เข้ามาทำงานในองค์กรญี่ปุ่นได้อย่างลงตัว คอลัมนิสต์สาวแนะว่า ผู้บริหารจะต้องมีวิสัยทัศน์ในการปฏิรูปการบริหาร และการเลื่อนตำแหน่ง แม้ว่าจะยากที่จะปรับระบบทรัพยากรบุคคล แต่อย่างน้อย อาจจะต้องหันมาใส่ใจในเรื่องความสามารถให้มากขึ้น ดูว่าบรรดาแรงงานต่างชาติมีความสามารถด้านใดเป็นพิเศษ และเหมาะกับด้านใดของบริษัท เริ่มต้นจ้างงานพวกเขาจากจุดนั้น

อิโนอุเอะแนะนำว่า ภาคธุรกิจที่ชาวต่างชาติควรมีบทบาทมากขึ้น คือ เทคโนโลยีสารสนเทศ (information technology) ปัจจุบันญี่ปุ่นถือว่าตามหลังตะวันตกอยู่ การมีคนต่างสัญชาติจะช่วยเสริมจุดอ่อน เติมจุดแข็ง ช่วยให้การทำงานมีความยืดหยุ่นและแข็งกร้าวมากขึ้น ซึ่งเป็นอุปนิสัยการทำงานที่ชาวญี่ปุ่นไม่ค่อยจะเป็น