Shell-BP กำไรล้านล้านบาท ชาวอังกฤษเดือดดาลเรียกร้องเก็บภาษีมากขึ้น

shell กำไรล้านล้าน
นักกิจกรรมจาก Greenpeace ติดป้ายรณรงค์เรียกร้องให้บริษัทน้ำมันจ่ายภาษีและจ่ายเงินแก้ปัญหาโลกร้อนมากขึ้น เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 หน้าสำนักงานใหญ่ Shell ในอังกฤษ/ ภาพโดย Daniel LEAL/ AFP

Shell และ BP บริษัทน้ำมันในอังกฤษทำกำไรบริษัทละประมาณ 1 ล้านล้านบาทในปี 2565 ขณะที่ผู้คนในประเทศต้องดิ้นรนเอาตัวรอดจากวิกฤตค่าครองชีพที่สูงสาหัส ประชาชนและนักการเมืองฝ่ายค้านจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเก็บภาษีจากกำไรน้ำมันและก๊าซมากขึ้นอีก จากปัจจุบันที่เก็บในอัตรา 35%  

ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พุ่งสูงขึ้นในปี 2565 สืบเนื่องจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน และการแบนน้ำมันจากรัสเซีย นำไปสู่วิกฤตค่าครองชีพ ผู้คนในหลายประเทศในทวีปยุโรปเดือดร้อนไม่มีเงินจ่ายค่าพลังงานสำหรับทำความอบอุ่นในบ้านเรือน ขณะที่ตัวเลขรายได้และกำไรรายไตรมาสของบริษัทพลังงานพุ่งสูงขึ้นตามราคาขายสินค้า    

รัฐบาลของหลายประเทศในทวีปยุโรปจึงเริ่มเก็บภาษีกำไรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากบริษัทพลังงาน หรือที่เรียกกันว่า ภาษีลาภลอยน้ำมัน (windfall tax) แล้วนำเงินภาษีที่เก็บได้ไปอุดหนุนราคาสินค้าที่จำเป็นและใช้กับโครงการบริการสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน   

สหราชอาณาจักรเปิดตัวภาษีนี้เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งมี ริชี ซูแน็ก (Rishi Sunak) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังอยู่ในขณะนั้น ได้กำหนดอัตราเก็บภาษีลาภลอย 25% ของกำไรของบริษัทพลังงาน โดยตั้งเป้าว่า จะเก็บภาษีได้รวม 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเวลา 3 ปี ระหว่างปี 2565-2568 

แต่ต่อมา รัฐบาลอังกฤษปรับเพิ่มอัตราภาษีเป็น 35% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 และคาดว่าจะเก็บภาษีจากธุรกิจน้ำมันและก๊าซได้รวม 80,000 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 95,830 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเวลา 6 ปี ระหว่างปี 2565-2571

แม้ว่าอัตราภาษีถูกปรับเพิ่มขึ้นแล้ว แต่เมื่อตัวเลขรายได้ของบริษัทพลังงานเปิดเผยออกมา ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า รัฐบาลเก็บภาษีน้อยเกินไป และมีการเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มอัตราภาษีขึ้นอีก เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้มากขึ้นสำหรับนำไปอุดหนุน เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน และเพื่อไม่ให้บริษัทน้ำมันร่ำรวยบนความทุกข์ยากของผู้บริโภคมากจนเกินไป 

The Guardian รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เชลล์ (Shell) บริษัทน้ำมันระดับโลกสัญชาติอังกฤษ รายงานผลประกอบการประจำปี 2565 มีกำไร 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,343,000 ล้านบาท เฉพาะไตรมาสสุดท้าย มีกำไร 10,000 ล้านดอลลาร์ โดยได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันและก๊าซที่สูงขึ้นมาก  

ทันทีที่มีการรายงานตัวเลขนี้ออกมา พรรคฝ่ายค้านและสหภาพแรงงานในอังกฤษก็ออกมาวิจารณ์ว่า ตัวเลขกำไรครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 115 ปีของเชลล์สร้างความเจ็บปวดให้ประชาชนที่ต้องดิ้นรนกับการจ่ายค่าพลังงาน และรัฐบาลก็ปล่อยให้บริษัทใหญ่เหล่านี้หลุดมือไปเฉย ๆ 

ฝั่งเชลล์ยืนยันว่าได้จ่ายภาษีลาภลอยของอังกฤษแล้ว 134 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 และจ่าย 520 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายใต้ “solidarity contribution” ของสหภาพยุโรป ซึ่งถือว่าเป็นภาษีลาภลอยของยุโรป 

แต่ประชาชน นักการเมืองฝ่ายค้าน และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มองว่า ภาษีจำนวนนี้ยังน้อยเกินไปสำหรับกำไรมหาศาลระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่เชลล์ได้มา จึงมีการกดดันรัฐบาลให้เก็บภาษีมากขึ้นอีก 

เอ็ดเวิร์ด มิลิแบนด์ (Ed Miliband) ส.ส. จากพรรคแรงงาน ซึ่งรับหน้าที่รัฐมนตรีเงากระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า “ขณะที่ชาวอังกฤษต้องเผชิญกับราคาพลังงานที่สูงขึ้นถึง 40% ในเดือนเมษายน รัฐบาลกลับปล่อยให้บริษัทพลังงานฟอสซิลทำกำไรสูงเกินปกติไปมหาศาล โดยที่พวกเขาปฏิเสธที่จะจ่ายภาษีลาภลอยในระดับที่เหมาะสม” 

ส่วนเอ็ด ดาวีย์ (Ed Davey) หัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrats) กล่าวว่า ไม่ควรมีบริษัทไหนทำกำไรอย่างอุกอาจแบบนี้จากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย 

“ริชี ซูแน็ก ได้รับคำเตือนในฐานะรัฐมนตรีคลัง และตอนนี้ในฐานะนายกรัฐมนตรี ว่าเราจำเป็นต้องเก็บภาษีลาภลอยจากบริษัทอย่างเชลล์ แต่เขาล้มเหลวในการดำเนินการ” ดาวีย์กล่าว 

ด้านพอล โนวัก (Paul Nowak) เลขาธิการสหภาพแรงงาน (Trades Union Congress of UK) กล่าวว่า กำไรอันมากล้นของบริษัทน้ำมันนั้นเป็นสิ่งที่หยาบคายและเป็นการหยามพี่น้องผู้ใช้แรงงาน และเขาเรียกร้องว่ารัฐบาลต้องเก็บภาษีมากขึ้น 

“ในขณะที่ครัวเรือนในอังกฤษต้องดิ้นรนกับการชำระค่าใช้จ่ายและหารายได้ให้พอประทังชีวิต เชลล์กลับกำลังเพลิดเพลินไปกับเงินสดก้อนโต หมดเวลาแก้ตัวแล้ว รัฐบาลต้องเรียกเก็บภาษีลาภลอยจากพลังงานมากขึ้นอีก เงินเป็นพันล้านถูกทิ้งไว้บนโต๊ะ” 

“แทนที่จะค้างค่าจ้างแพทย์ ครู นักดับเพลิง และข้าราชการอีกนับล้านที่กำลังตกอยู่ในที่นั่งลำบาก รัฐมนตรีควรทำให้บริษัทน้ำมันและก๊าซจ่ายภาษีในสัดส่วนที่ยุติธรรม” 

“เราต้องการให้รัฐบาลยืนอยู่ข้างประชาชนคนทำงาน ไม่ใช่บริษัทพลังงานผู้มั่งคั่งและมีอำนาจทางการเมือง” โนวักกล่าว 

ด้านเอเลนา โปลิซาโน (Elena Polisano) ผู้รณรงค์เพื่อความยุติธรรมด้านสภาพอากาศอาวุโส ของกรีนพีซสหราชอาณาจักรกล่าวว่า ผู้นำโลกเพิ่งร่วมกันจัดตั้งกองทุนใหม่ เพื่อชดเชยความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดจากวิกฤตสภาพอากาศ ตอนนี้พวกเขาควรบังคับให้ผู้ก่อมลพิษขนาดใหญ่ในอดีตอย่างเชลล์จ่ายเงินให้กับกองทุนนั้น 

ขณะที่โจนาธาน โนโรนา แกนต์ (Jonathan Noronha-Gant) นักรณรงค์อาวุโสของ Global Witness กล่าวว่า “ผู้คนมีสิทธิ์ที่จะโกรธเคืองกับกำไรมหาศาลที่เชลล์ได้รับ ท่ามกลางวิกฤตความสามารถในการจ่ายค่าพลังงานที่ผลักให้หลายล้านครอบครัวต้องยากจน”

ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ BP บริษัทน้ำมันรายใหญ่อีกรายของอังกฤษ รายงานผลประกอบการ ว่า มีกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 942,000 ล้านบาท ยิ่งเติมเชื้อไฟให้กระแสการเรียกร้องให้เก็บภาษีลาภลอยร้อนแรงขึ้นอีก  

ด้าน BP อธิบายว่า บริษัทจ่ายภาษีไป 2,200 ล้านดอลลาร์ในปี 2565 ในจำนวนนี้เป็นภาษีลาภลอยของอังกฤษ 700 ล้านดอลลาร์ และ BP คาดว่าจะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 800 ล้านดอลลาร์จากการดำเนินธุรกิจในทะเลเหนือ กับจ่ายภาษีลาภลอยในสหภาพยุโรปอีก 505 ล้านดอลลาร์ 

เบอร์นาร์ด ลูนีย์ (Bernard Looney) ซีอีโอ BP เรียกภาษีลาภลอยของประเทศต่าง ๆ ว่าเป็น “เครื่องกดเงินสด” แต่เขาก็บอกว่าภาษีจะไม่ขัดขวางการลงทุนใด ๆ ที่อยู่ในแผนการลงทุนของบริษัท