วิกฤตรถใช้น้ำมันที่จีน กรณีศึกษาของโลกรถยนต์

วิกฤตรถใช้น้ำมันที่จีน
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ผู้สันทัดกรณีในอุตสาหกรรมรถยนต์ระดับโลกหลายคนตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า วิกฤตใหม่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศจีนในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า นั่นคือปรากฏการณ์ที่ว่า รถยนต์จำนวนหลายล้านคันผลิตใหม่ยังไม่ได้ใช้งาน จะกลายเป็นสินค้าไร้ประโยชน์ ไร้มูลค่าไปโดยสิ้นเชิง เมื่อจีนบังคับใช้ “กฎว่าด้วยการปล่อยมลพิษใหม่” ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้

กฎเกณฑ์ใหม่ดังกล่าว ซึ่งประกาศให้เป็นที่รับรู้กันทั่วไปตั้งแต่ปี 2016 โดยกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2023 ทั้งนี้ ไม่ได้ห้ามการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง เพียงแต่กำหนด “มาตรฐานใหม่สำหรับการปล่อยมลพิษ” ของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ไอซีอี) หรือเรียกง่าย ๆ ว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง

ตามมาตรฐานใหม่ที่ว่านั้น ค่าของไอเสียที่ปล่อยออกมาจากรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนมอนอกไซด์, ไนโตรเจนออกไซด์, อนุภาคที่เกิดจากการเผาไหม้ (particulates) และอื่น ๆ จะต้องลดลงอย่างน้อย 1 ใน 3 หรือไม่ก็ต้องลดลงจากเดิมครึ่งหนึ่ง ขึ้นอยู่กับชนิดของไอเสียเหล่านั้น

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่า ทางการจีนประกาศให้รับรู้กันล่วงหน้าก่อนบังคับใช้มาตรฐานใหม่นี้นานถึงเกือบ 7 ปีเต็ม ๆ เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ “เตรียมพร้อม” ในการผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษลดน้อยลง เวลา 7 ปีแม้จะไม่ยาวนานนัก แต่ก็เพียงพอต่อการออกแบบ พัฒนา และนำเอารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ใหม่ ซึ่งปล่อยมลพิษน้อยลงออกสู่ท้องตลาด

ปัญหาก็คือว่า ดูเหมือนบรรดาผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไม่คิดที่จะทำเช่นนั้น แต่ตั้งเป้าจะขายรถยนต์ไอซีอีต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึง “เส้นตาย”

แต่แล้วก็บังเกิดปรากฏการณ์นอกเหนือความคาดหมาย นั่นคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไม่เพียงทำให้การผลิตรถยนต์ลดลงเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงกำลังซื้อและความต้องการ จนยอดขาย
รถยนต์ร่วงลงอย่างหนักอีกด้วย

ถึงตอนนี้แม้ยอดขายรถยนต์ในจีนจะกระเตื้องขึ้นอยู่บ้าง แต่ที่ฟื้นตัวขึ้นมาดังกล่าวคือยอดขาย “รถอีวี” หรือรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ในส่วนของรถใช้น้ำมันยังคงหายไปอย่างน่าตกใจ

จีนนั้นแต่เดิมได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เชื่องช้าในการรับเอารถอีวีเข้ามาใช้ ในปี 2015 ส่วนแบ่งการตลาดของรถอีวีในจีนอยู่ที่เพียงแค่ 0.84% ของรถยนต์ที่ใช้กันอยู่ทั้งหมด ใกล้เคียงกับตลาดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งรถอีวีมีส่วนแบ่งอยู่ที่ 0.66% เท่านั้น โดยสัดส่วนการใช้รถอีวีสูงสุดอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีส่วนแบ่งอยู่ที่ 3.1%

แต่ที่น่าคิดก็คือ ในปี 2022 ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดของรถอีวีในสหรัฐขยับขึ้นไปอยู่ที่ 7.2% เฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนียเพิ่มขึ้นเป็น 18.7% ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดของรถอีวีในจีนกลับพุ่งขึ้นสูงถึง 30% อย่างน่าทึ่ง ทิ้งหลายประเทศที่เคยนำหน้าอยู่ก่อนหน้านี้ไปหลายช่วงตัว

เท่ากับว่าตลาดรถอีวีในจีนแม้จะเชื่องช้า ในระยะแรกอยู่บ้าง แต่เมื่อออกสตาร์ตก็รุดหน้าอย่างรวดเร็ว เร็วจนบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่าย “เซอร์ไพรส์” ไปตาม ๆ กัน

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ปรากฏการณ์ “หั่นราคา” รถไอซีอีครั้งมโหฬาร แม้แต่ทางการก็ยังเข้ามาช่วยเหลือ โดยรัฐบาลท้องถิ่นของมณฑลต่าง ๆ พากันประกาศมาตรการอุดหนุนเพิ่มเติมสำหรับการซื้อรถยนต์ไอซีอีที่ผลิตขึ้นมาจากโรงงานซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลนั้น ๆ

แต่ยิ่งราคาถูกหั่นลงเร็วเท่าใด ปรากฏการณ์ “wait-and-see” ก็ยิ่งเกิดขึ้นกับผู้ซื้อชาวจีนมากขึ้นเท่านั้น ส่วนหนึ่งคิดว่ารอไปนานอีกหน่อยราคาก็จะลดลงมากยิ่งขึ้น ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งหันไป “ซื้ออนาคต” ใช้รถอีวีไปเลย

ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นในขณะที่เวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ใกล้จะถึงกำหนดที่รถยนต์ในสต๊อกหลายล้านคันจะกลายเป็นไร้ค่า ขายไม่ได้มากขึ้นทุกที

บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของจีนดูเหมือนจะปรับตัวได้รวดเร็วกว่า ดังนั้น ค่ายรถยนต์ต่างชาติจึงตกเป็นเหยื่อได้รับผลกระทบจากกฎข้อบังคับใหม่ของจีนมากที่สุด

ยอดขายล่าสุดของรถยนต์ที่เป็นแบรนด์จีน ถือว่าเสมอตัวเมื่อเทียบกันปีต่อปี แต่ยอดขายของรถจากค่ายสหรัฐอเมริกาลดลง 12% รถจากเยอรมนีกับเกาหลีใต้หายไปถึง 22% ที่หนักสุดคือค่ายรถฝรั่งเศสและญี่ปุ่นที่ลดลงมากกว่า 40% เมื่อเทียบกันปีต่อปี

สภาหอการค้าผู้จัดหน่ายรถยนต์แห่งจีน (China Auto Dealers Chamber of Commerce-CADCC) ออกมาเรียกร้องให้ทางการยืดระยะเวลาบังคับใช้กฎดังกล่าวออกไปอีก 6 เดือน จนถึงปีหน้า

แต่ยังไม่มีใครแน่ใจว่า ถึงตอนนั้นรถหลายล้านคันที่ว่าจะขายออกหรือไม่

ที่น่าคิดอย่างยิ่งก็คือ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า กรณีของจีนถือเป็นกรณีศึกษาสำหรับตลาดรถยนต์ทั่วโลกในเวลานี้ เพราะแนวโน้มที่ว่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในจีนเพียงประเทศเดียว แต่เป็นกันทั่วโลก ถือเป็น “โกลบอลเทรนด์” อย่างหนึ่ง และมีรูปธรรมให้เห็นกันมาแล้วในหลายประเทศ

ตัวอย่างเช่นในนอร์เวย์ ซึ่งกำหนดจะยุติการจำหน่ายรถใช้น้ำมันในปี 2025 แต่ในปี 2022 ที่ผ่านมารถยนต์ใช้น้ำมันขายไม่ออก จนทำให้หลายบริษัทต้องเลิกขาย

รวมทั้ง “ฮุนได” ที่เป็นรายล่าสุดซึ่งประกาศยุติการขายรถยนต์ใช้น้ำมันในนอร์เวย์ไปแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี่เอง