สิงคโปร์ เล็งใช้ไบโอเมตริกซ์แทนพาสปอร์ต ลดเวลาผ่านด่าน ตม.

สนามบิน สนามบินชางงี Changi Airport
Photo by shawnanggg on Unsplash

สื่อต่างประเทศรายงาน สนามบินชางงี สิงคโปร์ เตรียมใช้เทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์ ช่วยยืนยันตัวตนผู้โดยสารขาออก ลดเวลาการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง

วันที่ 22 กันยายน 2566 ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า สนามบินชางงี (Changi Airport) ประเทศสิงคโปร์ มีแผนอำนวยความสะดวกผู้โดยสารขาออก โดยเตรียมนำระบบข้อมูลชีวมาตร หรือไบโอเมตริกซ์ (Biometrics) มาใช้ในการตรวจคนเข้าเมืองแบบอัตโนมัติ แทนการแสดงหนังสือเดินทาง หรือ พาสปอร์ต (Passport) ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป

นายโจเซฟิน เตียว รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ ประกาศระหว่างการประชุมรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ก.ย. 2566) ซึ่งมีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการตรวจคนเข้าเมือง โดยระบุว่า สิงคโปร์จะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่จะใช้ระบบตรวจคนเข้าเมืองอัตโนมัติ โดยไม่ต้องใช้พาสปอร์ต

สำหรับเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ คือการสแกนใบหน้า ซึ่งมีการใช้งานอยู่ก่อนแล้วในช่องบริการอัตโนมัติของด่านตรวจคนเข้าเมือง แต่ในครั้งนี้ จะนำมาใช้เพื่อลดการแสดงเอกสารแสดงตน เพิ่มความสะดวกสบายและประมวลผลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ระบบไบโอเมตริกซ์ จะนำมาใช้เป็นโทเคนสำหรับการยืนยันตัวตนตามจุดบริการอัตโนมัติต่าง ๆ ของสนามบิน ตั้งแต่การโหลดกระเป๋า-สัมภาระ จนถึงการตรวจคนเข้าเมืองและขึ้นเครื่อง โดยไม่ต้องแสดงเอกสารยืนยัน เช่น พาสปอร์ต หรือตั๋วโดยสาร (Boarding Pass)

รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ ย้ำอีกว่า ระบบดังกล่าวยังไม่ได้ใช้งานในหลายประเทศนัก ดังนั้นการมีพาสปอร์ตเล่มอยู่กับตัว ยังเป็นสิ่งสำคัญ พร้อมทั้งคาดหวังว่า ระบบการตรวจคนเข้าเมืองนี้ จะช่วยจัดการจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น และมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้โดยสาร พร้อมกับการรับประกันเรื่องความปลอดภัย

สนามบินกับเทคโนโลยีใหม่

ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2561 สนามบินนานาชาติดูไบ เปิดตัว Smart Gates อุโมงค์อัจฉริยะที่สามารถใช้ข้อมูลไบโอเมตริกซ์ ทั้งใบหน้าหรือนิ้วมือ ในการยืนยันตัวตน แทนการใช้หนังสือเดินทาง และรวมถึงในสนามบินนานาชาติอีกหลายประเทศที่นำเทคโนโลยีการสแกนใบหน้ามาใช้

เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ที่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา สายการบินใหญ่ เช่น American Airlines, United และ Delta ได้นำเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์มาทดลองใช้ในการเช็กอิน โหลดสัมภาระ และขึ้นเครื่องในบางสนามบิน

ขณะที่ประเทศอารูบา (Aruba) ได้เปิดให้ผู้โดยสาร สามารถใช้พาสปอร์ตดิจิทัลบนโทรศัพท์มือถือในการแสดงตน แทนการแสดงตนด้วยพาสปอร์ตแบบเล่ม โดยพาสปอร์ตแบบดิจิทัลนั้น ต้องสองคล้องตามมาตรฐาน Digital IDs ตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กำหนด

และเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา สนามบินลอนดอน ซิตี้ ยกเลิกกฎการพกของเหลวเกิน 100 มิลลิลิตรขึ้นเครื่องบิน หลังนำเข้าเครื่องสแกนสำหรับการตรวจกระเป๋า ซึ่งใช้เทคโนโลยีการสแกนภาพออกมาเป็นภาพ 3 มิติ คล้ายกับเครื่อง CT Scan ที่มีใช้ปัจจุบันในโรงพยาบาล และสามารถวิเคราะห์และประเมินได้ว่า ของเหลวที่อยู่ในกระเป๋าของผู้โดยสารนั้น เป็นอันตรายหรือไม่

ซึ่งผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกมากขึ้น เพราะสามารถพกพาของเหลวได้มากขึ้นเป็นสูงสุด 2 ลิตร ไม่ต้องใส่อุปกรณ์อาบน้ำแยกกระเป๋า และไม่ต้องแยกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ออกจากกระเป๋า ช่วยลดเวลาและลดความยุ่งยากในการตรวจกระเป๋าผู้โดยสาร

ประเทศไทย เตรียมแผนสแกนใบหน้า เช็กอินขึ้นเครื่องได้

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า ได้มีการเตรียมพร้อมรองรับผู้โดยสารด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาให้บริการ ได้แก่ เครื่อง CUSS (common use self service) ให้ผู้โดยสารสามารถเช็กอินด้วยตนเอง และเครื่อง CUBD (common use bag drop) สำหรับให้ผู้โดยสารสามารถโหลดกระเป๋าสัมภาระได้เอง และระบบส่งคืนถาดใส่สัมภาระอัตโนมัติ (automatic return tray system : ARTS)

โดยเริ่มทยอยติดตั้งแล้วและพร้อมให้บริการเต็มรูปแบบตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2566 นี้เป็นต้นไป และผู้โดยสารสามารถเช็กอินล่วงหน้าได้ถึง 5 ชั่วโมงสำหรับสนามบินสุวรรณภูมิ โดยไม่ต้องรอเคาน์เตอร์เช็กอินเปิด ซึ่งเทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาความคับคั่งในการรอต่อคิว ณ เคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร และบริเวณจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แก้ไขปัญหาความแออัดของผู้โดยสารบริเวณจุดตรวจหนังสือเดินทาง โดยมีแผนจะติดตั้งเครื่อง auto channel หรือ auto gate เพื่อให้บริการผู้โดยสารขาออก ซึ่งรองรับ e-Passport ได้ 90 ประเทศทั่วโลก

ขณะที่ผู้โดยสารขาเข้านั้น นอกจากผู้โดยสารชาวไทยแล้ว ประเทศไทยได้ลงนามความร่วมมือในด้านการผ่านเข้าประเทศกับสิงคโปร์ และฮ่องกง ให้สามารถใช้บริการ auto channel ได้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เริ่มนำร่องให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง โดยจะทยอยติดตั้งและให้บริการได้ในปี 2567 ซึ่งจะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารขาออกจาก 6,200 คนต่อชั่วโมง เป็น 8,800 คนต่อชั่วโมง และรองรับผู้โดยสารขาเข้าจาก 11,000 คนต่อชั่วโมง เป็น 13,300 คนต่อชั่วโมง

ขณะที่สนามบินดอนเมืองจะสามารถรองรับผู้โดยสารขาออกจาก 3,000 คนต่อชั่วโมง เป็น 3,600 คนต่อชั่วโมง และผู้โดยสารขาเข้าจาก 3,100 คนต่อชั่วโมง เป็น 3,600 คนต่อชั่วโมง

นอกจากนี้ AOT ยังมีแผนนำระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (automated biometric identification system) เทคโนโลยี facial recognition (สแกนใบหน้า) เพื่อใช้ในการระบุตัวตนของผู้โดยสาร

ผู้โดยสารที่มาเช็กอินที่เคาน์เตอร์เช็กอินปกติ หรือที่เครื่อง CUSS หากผู้โดยสารให้การยินยอมใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ระบบ biometric จะนำข้อมูลใบหน้าผู้โดยสารผสานรวมกับข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสาร สร้างเป็นข้อมูลสำหรับใช้ในการตรวจสอบยืนยันตัวตน เรียกว่าข้อมูล One ID

เมื่อดำเนินการสำเร็จ ผู้โดยสารจะใช้เพียงใบหน้าสแกนเพื่อโหลดกระเป๋าสัมภาระที่เครื่อง CUBD รวมถึงใช้ยืนยันตัวตนแทนการใช้ boarding pass ณ จุดตรวจค้น และในขั้นตอนการตรวจบัตรโดยสารก่อนขึ้นเครื่อง ณ ประตูทางออกขึ้นเครื่องด้วย โดยทุกขั้นตอนไม่ต้องแสดงหลักฐานตั๋วโดยสารและบัตรประชาชน