AOT จ่อใช้ระบบสแกนใบหน้า ขึ้นเครื่องไม่ต้องโชว์ “ตั๋ว-บัตรประชาชน” ยกระดับบริการทุกสนามบิน

AOT ระบบแสกนใบหน้า

กลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจนแล้วสำหรับธุรกิจการบิน โดยจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางเข้า-ออกผ่านสนามบินหลักทั้ง 6 แห่งของไทย คือ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, ภูเก็ต, แม่ฟ้าหลวง (เชียงราย) และหาดใหญ่ (สงขลา) ฟื้นกลับมาได้ประมาณ 80% แล้ว เมื่อเทียบกับปี 2562 (ก่อนโควิด)

“ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์” ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ระบุว่า ในช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณ 2566 (1 ตุลาคม 2565-31 พฤษภาคม 2566) สนามบินทั้ง 6 แห่งของ AOT มีปริมาณการจราจรทางอากาศรวม 66.38 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 170.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565

แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 34.31 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 635.7 และผู้โดยสารภายในประเทศ 32.06 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.3 มีเที่ยวบิน 422,900 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 79 เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 202,700 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 175.2 และเที่ยวบินภายในประเทศ 220,300 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.4

AOT ระบบแสกนใบหน้า

พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าปริมาณผู้โดยสารในปีงบประมาณ 2566 จะกลับมาที่ประมาณ 95 ล้านคนต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 142 ล้านคนต่อปีในปี 2567 หรือเทียบเท่ากับก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“ดร.กีรติ” บอกว่า จากตัวเลขปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและต่อเนื่องนี้ AOT ในฐานะประตูต้อนรับผู้เดินทางจากทั่วโลก ได้เร่งขยายขีดความสามารถของสนามบินทั้ง 6 แห่ง และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ โดยเฉพาะสนามบินหลักที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ, สนามบินดอนเมือง และสนามบินภูเก็ต

โดยในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมินั้น AOT เตรียมพร้อมรองรับผู้โดยสารด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาให้บริการ ได้แก่ เครื่อง CUSS (common use self service) ให้ผู้โดยสารสามารถเช็กอินด้วยตนเอง และเครื่อง CUBD (common use bag drop) สำหรับให้ผู้โดยสารสามารถโหลดกระเป๋าสัมภาระได้เอง และระบบส่งคืนถาดใส่สัมภาระอัตโนมัติ (automatic return tray system : ARTS)

โดยเริ่มทยอยติดตั้งแล้วและพร้อมให้บริการเต็มรูปแบบตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2566 นี้เป็นต้นไป และผู้โดยสารสามารถเช็กอินล่วงหน้าได้ถึง 5 ชั่วโมงสำหรับสนามบินสุวรรณภูมิ โดยไม่ต้องรอเคาน์เตอร์เช็กอินเปิด ซึ่งเทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาความคับคั่งในการรอต่อคิว ณ เคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร และบริเวณจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แก้ไขปัญหาความแออัดของผู้โดยสารบริเวณจุดตรวจหนังสือเดินทาง โดยมีแผนจะติดตั้งเครื่อง auto channel หรือ auto gate เพื่อให้บริการผู้โดยสารขาออก ซึ่งรองรับ e-Passport ได้ 90 ประเทศทั่วโลก

ขณะที่ผู้โดยสารขาเข้านั้น นอกจากผู้โดยสารชาวไทยแล้ว ประเทศไทยได้ลงนามความร่วมมือในด้านการผ่านเข้าประเทศกับสิงคโปร์ และฮ่องกง ให้สามารถใช้บริการ auto channel ได้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เริ่มนำร่องให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง โดยจะทยอยติดตั้งและให้บริการได้ในปี 2567 ซึ่งจะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารขาออกจาก 6,200 คนต่อชั่วโมง เป็น 8,800 คนต่อชั่วโมง และรองรับผู้โดยสารขาเข้าจาก 11,000 คนต่อชั่วโมง เป็น 13,300 คนต่อชั่วโมง

ขณะที่สนามบินดอนเมืองจะสามารถรองรับผู้โดยสารขาออกจาก 3,000 คนต่อชั่วโมง เป็น 3,600 คนต่อชั่วโมง และผู้โดยสารขาเข้าจาก 3,100 คนต่อชั่วโมง เป็น 3,600 คนต่อชั่วโมง

นับเป็นเครื่องมือที่จะช่วยลดเวลาในการใช้บริการของผู้โดยสารตั้งแต่เคาน์เตอร์เช็กอิน ผ่านจุดตรวจค้น ผ่านด่าน ตม. โดยมีเป้าหมายไม่ให้เกิน 45 นาที สำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ และไม่เกิน 30 นาที สำหรับผู้โดยสารภายในประเทศ

“ดร.กีรติ” บอกอีกว่า เป้าหมายสำคัญหนึ่งของการดำเนินงานในก้าวต่อไปของ AOT คือการมุ่งสร้างประสบการณ์ที่ดีที่น่าประทับใจให้ผู้โดยสาร และเป็นสนามบินที่ทันสมัย

โดยล่าสุดมีแผนนำระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (automated biometric identification system) เทคโนโลยี facial recognition (สแกนใบหน้า) เพื่อใช้ในการระบุตัวตนของผู้โดยสาร

ผู้โดยสารที่มาเช็กอินที่เคาน์เตอร์เช็กอินปกติ หรือที่เครื่อง CUSS หากผู้โดยสารให้การยินยอมใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ระบบ biometric จะนำข้อมูลใบหน้าผู้โดยสารผสานรวมกับข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสาร สร้างเป็นข้อมูลสำหรับใช้ในการตรวจสอบยืนยันตัวตน เรียกว่าข้อมูล One ID

AOT ระบบแสกนใบหน้า

เมื่อดำเนินการสำเร็จ ผู้โดยสารจะใช้เพียงใบหน้าสแกนเพื่อโหลดกระเป๋าสัมภาระที่เครื่อง CUBD รวมถึงใช้ยืนยันตัวตนแทนการใช้ boarding pass ณ จุดตรวจค้น และในขั้นตอนการตรวจบัตรโดยสารก่อนขึ้นเครื่อง ณ ประตูทางออกขึ้นเครื่องด้วย โดยทุกขั้นตอนไม่ต้องแสดงหลักฐานตั๋วโดยสารและบัตรประชาชน

โดยระบบ biometric ใช้เวลาน้อย มีความแม่นยำสูง และช่วยลดระยะเวลาในการรอคิวในการตรวจสอบแต่ละจุดให้บริการ ซึ่งขณะนี้ AOT ได้ติดตั้ง พัฒนาและอยู่ระหว่างทดสอบระบบร่วมกับสายการบิน คาดว่าจะมีความพร้อมให้บริการในช่วงกลางปี 2567

ไม่เพียงเท่านี้ AOT ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาแอปพลิเคชั่น SAWASDEE by AOT ซึ่งนอกจากจะเป็นศูนย์รวมข้อมูลการบริการต่าง ๆ ของสนามบิน และข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องแล้ว ยังมีแผนพัฒนาให้เป็น gate way รองรับการเช็กอินของทุกสายการบิน

ดังนั้น นอกจากปี 2567 จะเป็นปีที่ธุรกิจการบินฟื้นกลับสู่ภาวะปกติ และคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารเดินทางผ่านสนามบินทั้ง 6 แห่งของ AOT ไม่ต่ำกว่า 142 ล้านคนแล้ว ยังเป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการให้บริการสนามบินทั้ง 6 แห่งในทุกมิติอีกด้วย