สงครามการค้าสหรัฐ-จีน จุดจบของ “ดับเบิลยูทีโอ” ?

หลายคนแสดงความคาดหวังว่า องค์การการค้าโลก หรือดับเบิลยูทีโอ จะเป็นที่พึ่งสุดท้ายที่จะช่วยคลี่คลายความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ที่ก่อตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ไม่ให้ลุกลามออกไปจนกลายเป็นสงครามการค้า ที่จะสร้างความเสียหายให้ไม่เพียงเฉพาะกับคู่กรณี แต่หมายถึงเศรษฐกิจการค้าโดยรวมของทั้งโลกอีกด้วย

ผู้ที่แสดงความคาดหวังดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ไม่เพียงแต่ตัวแทนของจีนจะเรียกร้องซ้ำ ๆ หลายครั้งให้สหรัฐอเมริกาหันมาใช้กลไกระงับข้อพิพาทของดับเบิลยูทีโอ แทนที่การประกาศใช้มาตรการขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรด้วยตัวเองเท่านั้น สหรัฐอเมริกาเองยังยื่นเรื่องต่อ “องค์กรระงับข้อพิพาท” (ดีเอสบี) หน่วยงานสำคัญของดับเบิลยูทีโอ เรียกร้องให้ลงโทษจีนในกรณีการละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย

ที่สำคัญก็คือ กรณีพิพาททางการค้า ถ้าดับเบิลยูทีโอไม่แก้ แล้วใครจะเป็นคนแก้ ?

แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศระดับคร่ำหวอดหลายคนไม่เชื่อว่า ความคาดหวังดังกล่าวจะเป็นความจริง เหตุผลหลักก็คือ สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงท่าทีมาตั้งแต่ต้นว่า ไม่เคยยอมรับบทบาทของดับเบิลยูทีโอเอาเลย ค่อนไปในทางเป็นปฏิปักษ์ด้วยซ้ำไป

ทรัมป์เคยแสดงทรรศนะต่อดับเบิลยูทีโอเอาไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานาธิบดี พูดถึงเอาไว้ในระหว่างการหาเสียงหลายครั้งว่า ดับเบิลยูทีโอ คือความล้มเหลวในระดับ “หายนะ” และขู่กลาย ๆ ด้วยซ้ำไปว่า จะให้สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก

และประกาศชัดว่า สหรัฐอเมริกามี “สิทธิเต็มที่” ต่อการเพิกเฉยคำตัดสินชี้ขาดของดีเอสบี ซึ่ง “ล่วงละเมิดต่อผลประโยชน์” ของสหรัฐอเมริกา

ดังนั้นในสายตาของผู้เชี่ยวชาญหลายคนจึงมองความพยายามของรัฐบาลอเมริกันที่อ้างว่า การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของตนนั้นเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ เพราะสินค้าที่ถูกขึ้นพิกัดอัตราภาษีเหล่านั้นกระทบต่อ “ความมั่นคงของชาติ” จึงไม่ต่างอะไรกับการโยนระเบิดลูกใหญ่เข้าใส่ดับเบิลยูทีโอนั่นเอง

แล้วทำไมสหรัฐอเมริกา ถึงได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อดีเอสบี ?

ปีเตอร์ ไมตรี อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเคยทำงานอยู่กับดับเบิลยูทีโอมายาวนานถึง 20 ปี มองความเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า เป็นวิธีการ “มาตรฐาน” ของทรัมป์ ในการปฏิบัติต่อบรรดาองค์กรระหว่างประเทศทั้งหลาย ตั้งแต่กรณีองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เรื่อยไปจนถึงสหประชาชาติ (ยูเอ็น) นั่นคือทั้งไม่ให้ความเชื่อถือ ไม่ให้ความสำคัญ ต่อองค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้ ยกเว้นในกรณีที่สหรัฐอเมริกาจะได้รับประโยชน์เท่านั้น จึงให้คุณค่า ให้ความสำคัญ

การยื่นเรื่องต่อดีเอสบี เป็นการ”ใช้ประโยชน์” จากดับเบิลยูทีโออย่างเต็มที่ เพื่อแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่สหรัฐอเมริกากระทำทั้งหมดไม่ได้เป็นการต่อสู้กับดับเบิลยูทีโอ และเป็นคนละเรื่องกับการอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติโดยสิ้นเชิง ถือเป็นการ “ใช้อาวุธทุกชนิด” เท่าที่สามารถจะใช้ได้เพื่อให้ได้ชัยชนะ รวมถึงการทำงานภายในระบบที่ใช้กันอยู่ แต่ในเวลาเดียวกันก็พร้อมที่จะไม่แยแสกฎเกณฑ์ใด ๆ ถ้าจำเป็นขึ้นมาซึ่งนั่นก่อให้เกิดคำถามสำคัญตามมาว่า อนาคตของดับเบิลยูทีโอจะลงเอยในสภาพไหน ถ้าหากสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

ไม่ยอมรับกฎ กติกา ขององค์กรระหว่างประเทศ ที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้ทำหน้าที่ออกกฎและกำกับดูแลให้การค้าโลกมีความเสมอภาคและเป็นธรรม ?

เอ็ดเวิร์ด อัลเดน นักวิชาการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการค้าระหว่างประเทศของสภาเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ซีเอฟอาร์) องค์กรทางวิชาการในวอชิงตัน เขียนบทความแสดงความคิดเห็นออกมาในทันทีที่มีการประกาศขึ้นพิกัดอัตราภาษีโดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ เมื่อ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า วันที่สหรัฐประกาศดังกล่าว คือ วันที่ดับเบิลยูทีโอเดินทางมาถึงจุดจบ

อัลเดนชี้ให้เห็นว่า ทางการสหรัฐอเมริกาอ้างว่า มาตราว่าด้วยความมั่นคงของชาติในกฎหมายการค้าระหว่างประเทศนั้น เป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้เอง ซึ่งหมายความว่า เมื่อใดก็ตามที่ประเทศใดก็ตามอ้างเอาเหตุผลด้านความมั่นคงมาใช้ เพื่อออกมาตรการใด ๆ ทางการค้า มาตรการใด ๆ ดังกล่าวนั้นถือว่า ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

และระบุต่อไปว่า หากดีเอสบีของดับเบิลยูทีโอชี้ขาดออกมาว่า การดำเนินการของสหรัฐอเมริกาถูกต้องแล้ว ด้วยเหตุผลตามที่สหรัฐอเมริกาอ้าง ต่อไปดับเบิลยูทีโอก็ต้องอนุญาตให้ทุกประเทศขึ้นภาษีตามอำเภอใจได้ตลอดเวลา เมื่อใดก็ได้ตามที่ประเทศนั้น ๆ ต้องการ ด้วยการอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติเช่นเดียวกัน

แต่ถ้าหากชี้ขาดออกมา ปฏิเสธคำร้องของสหรัฐอเมริกา แล้วสหรัฐปฏิเสธที่จะดำเนินการตามคำชี้ขาดของดับเบิลยูทีโอ ไม่เพียง “องค์กรระงับข้อพิพาท” จะอยู่ไม่ได้ แม้แต่ความเชื่อถือและคุณค่าของดับเบิลยูทีโอก็จะพังทลาย และแตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย

อนาคตของดับเบิลยูทีโอขึ้นอยู่กับว่า จีนและสมาชิกอื่น ๆ รวมทั้งสหภาพยุโรป แสดงปฏิกิริยาต่อความอึดอัด คับข้องใจของสหรัฐอเมริกาที่จะเกิดขึ้นอย่างไร และพร้อมที่จะปรับตัว รอมชอม เพื่อให้ดับเบิลยูทีโอ และระบบการค้าพหุภาคีที่ทำให้เศรษฐกิจโลกรุ่งเรืองในช่วงที่ผ่านมา ยังอยู่รอดต่อไปหรือไม่

ไม่ว่าจะเป็นไปในกรณีใด ทั้งอัลเดน และปีเตอร์ เห็นตรงกันว่า ดับเบิลยูทีโอจะยังคงรูปร่างเป็นองค์กรสำหรับการค้าระหว่างประเทศอยู่เหมือนเดิมไปอีกระยะหนึ่ง คงไม่สิ้นสุดไปในเร็ววัน

แต่ชัดเจนว่า สถานการณ์ในเวลานี้แหลมคมและอันตรายอย่างยิ่งแล้ว