AUKUS นำร่องใช้ AI ติดตามเรือดำน้ำจีนในมหาสมุทรแปซิฟิก

AUKUS พันธมิตรทางทหารออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา
ภาพการแถลงข่าว AUKUS summit เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2023 ที่ฐานทัพเรือพอยต์โลมา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา (ภาพโดย Jim WATSON / AFP)

กองทัพเรือสหรัฐ อังกฤษ และออสเตรเลีย ในนามพันธมิตรความร่วมมือด้านความมั่นคง AUKUS กำลังทดสอบระบบโซนาร์ใต้น้ำเอไอ ตรวจจับการเคลื่อนไหวของเรือดำน้ำกองทัพจีน ในมหาสมุทรแปซิฟิก 

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2023 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า หัวหน้าฝ่ายกลาโหมของกองทัพเรือสหรัฐ อังกฤษ และออสเตรเลีย ประกาศร่วมกันเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ได้ตรียมทดสอบวิธีใหม่ในการติดตามเรือดำน้ำของจีน โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) โดยลูกเรือในภารกิจมหาสมุทรแปซิฟิกที่ใช้เครื่องบินสอดแนมและโจมตีทางทะเลของกองทัพเรือสหรัฐจะใช้อัลกอริทึ่มเอไอ เพื่อประมวลผลข้อมูลโซนาร์ที่รวบรวมโดยอุปกรณ์ใต้น้ำของสหรัฐ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลียอย่างรวดเร็ว 

เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถช่วยให้พันธมิตรทางทหาร AUKUS สามารถติดตามเรือดำน้ำของจีนได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการคานอำนาจการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยอย่างรวดเร็ว และการเคลื่อนไหวของกำลังพลที่กร้าวร้าวของจีนที่เพิ่มมากขึ้น

การทดสอบนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการแบ่งปันเทคโนโลยีการทหารของ 3 ประเทศที่รวมตัวกันในชื่อพันธมิตร AUKUS 

มหาอำนาจทั้งสามกล่าวว่า จะติดตั้งอัลกอริทึ่มปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงบนระบบทางทหารจำนวนมาก รวมถึงเครื่องบิน P-8A โพไซดอน เพื่อประมวลผลข้อมูลจากโซนาร์ ทุ่น และอุปกรณ์ตรวจจับใต้น้ำของแต่ละประเทศ

เครื่องบิน P-8A Poseidon เป็นเครื่องบินลาดตระเวนประจำกองทัพเรือทั้งสามประเทศ ผลิตโดยบริษัทโบอิ้ง (BA) สามารถบรรทุกตอร์ปิโดและขีปนาวุธร่อนเพื่อโจมตีเรือดำน้ำและเรือผิวน้ำ และมีการบินลาดตระเวนเป็นประจำในมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงทะเลจีนใต้ ทำให้พบเครื่องบินรบของจีนและมักจะมีการบินโฉบอยู่ใกล้ ๆ 

ทั้งนี้ ข้อตกลงพันธมิตร AUKUS เป็นความพยายามคานอำนาจในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้กับกองทัพจีน โดยมีความมุ่งเน้นแบ่งปันข้อมูลและเทคโนโลยี ปัจจุบันมีสองเสาหลัก ได้แก่ 

เสาหลักที่ 1 มุ่งเน้นไปที่การสร้างขีดความสามารถของเรือดำน้ำที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ภายในประเทศของออสเตรเลีย ซึ่งจะถึงจุดสูงสุดในการพัฒนาร่วมกันของเรือดำน้ำใหม่สำหรับใช้งานภาคสนามภายในปี 2040 (พ.ศ. 2583) 

เสาหลักที่ 2 มุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือในด้านเทคโนโลยี 8 ด้าน เช่น เทคโนโลยีควอนตัม ความปลอดภัยทางไซเบอร์ขั้นสูง และอาวุธที่มีความเร็วเหนือเสียง

ตามรายงานประจำปีล่าสุดของกระทรวงกลาโหมจีนเกี่ยวกับกองทัพจีนระบุว่า ปัจจุบันจีนมีเรือดำน้ำนิวเคลียร์บรรทุกขีปนาวุธนำวิถี 6 ลำ เรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์ 6 ลำ และเรือดำน้ำจู่โจมพลังงานดีเซล/อัดอากาศ 48 ลำ

รายงานระบุด้วยว่า กองเรือดำน้ำของกองทัพเรือจีนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 65 หน่วยภายในปี 2025 และ 80 หน่วยภายในปี 2035 จากการขยายขีดความสามารถในการก่อสร้างเรือดำน้ำใหม่ แม้ว่าเรือเก่าจะมีการปลดประจำการอย่างต่อเนื่องก็ตาม