จับตา Super Cycle ใหม่ของเศรษฐกิจโลก ขับเคลื่อนด้วย AI-การลดคาร์บอน

AI
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

พลวัตของเทคโนโลยีในปัจจุบันนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วให้กับหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ “ปีเตอร์ ออพเพนไฮเมอร์” นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซกส์ เชื่อว่าเศรษฐกิจของโลกเรากำลังจะเข้าสู่ “สุดยอดวัฏจักร” หรือ Super Cycle ครั้งใหม่ โดยมีปัญญาประดิษฐ หรือ AI และเทรนด์ของการลดคาร์บอนเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไปสู่การเติบโตในยุคใหม่ เป็นเครื่องหมายแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ต่างไปจาก Super Cycle รอบที่แล้วที่เริ่มต้นในทศวรรษ 1980 หรือ 40 ปีที่แล้ว

เมื่อ 40 ปีที่แล้ว “วัฏจักรเศรษฐกิจโลก” ซึ่งก็คือวัฏจักรปัจจุบัน ถือกำเนิดขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อขึ้นไปถึงจุดสูงสุด ตามมาด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำยาวนาน เปิดหนทางไปสู่ช่วงเวลาการเติบโตแบบมโหฬารที่ถูกขนานนามว่า “การบูมที่ยาวนาน” การเริ่มต้นของวัฏจักรดังกล่าวมีลักษณะที่เศรษฐกิจขยายตัวเร็ว จนดอกเบี้ยขึ้นไปสูงสุด และหลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยก็อยู่ในระดับต่ำเกือบ 35 ปี

นอกจากนี้ การสิ้นสุดของสงครามเย็นได้ช่วยขจัดความเสี่ยงการเป็นปรปักษ์ด้านการเมืองระหว่างประเทศ อุตสาหกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่สายการบินไปจนถึงธนาคารได้ผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ ลง ท้ายที่สุดก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า “โลกาภิวัตน์” ทำให้การค้าและการเงินระหว่างประเทศเชื่อมโยงกัน

แต่ Super Cycle ครั้งใหม่ของเศรษฐกิจโลกนี้ แรงขับเคลื่อนของมันจะไม่ได้มาจากแหล่งเดียวกับ Super Cycle ของรอบปัจจุบัน เพราะอัตราดอกเบี้ยจะไม่ลดลงมาก ขณะที่โลกาภิวัตน์ก็เผชิญอุปสรรคมากมาย ความเสี่ยงด้านการเมืองระหว่างประเทศสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้สินทรัพย์ด้านการเงินมีผลตอบแทนต่ำเมื่อเทียบกับทศวรรษที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีตัวขับเคลื่อนสำคัญมาทำหน้าที่แทน นั่นก็คือพลังของ AI ที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ในระบบเศรษฐกิจ ผสานเข้ากับนโยบายการลดคาร์บอน

ออพเพนไฮเมอร์ระบุว่า จะเห็นว่าการบูมของ AI ทำให้บริษัทเทคโนโลยีเป็นเจ้าครองตลาดในปีที่แล้ว ราคาหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีอย่างเอ็นวิเดียและเมตา เป็นต้น เพิ่มขึ้นในระดับ 100% ขึ้นไป แม้ว่าเริ่มต้นปี 2024 หุ้นเทคโนโลยีจะสะดุดบ้าง แต่วอลล์สตรีตยังมีมุมมองบวกว่า AI จะยังนำตลาด เพราะเทคโนโลยีเริ่มจะแทรกซึมเข้าไปในทุกเซ็กเตอร์ของเศรษฐกิจ

บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ซึ่งเป็น “จุดศูนย์กลาง” ของการบูมยังมีราคาถูกเมื่อเทียบกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่เกิดฟองสบู่ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 และฟองสบู่เทคโนโลยีของญี่ปุ่นปลายทศวรรษ 1980 บริษัทเหล่านี้ทำกำไรมาก และตนเชื่อว่าจะยังเดินหน้าต่อไปได้และส่งผลกระทบใหญ่ในอนาคต

นักวิเคราะห์ของโกลแมน แซกส์ ระบุว่า ในส่วนของการลดคาร์บอนเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนนั้น จะผลักดันให้เศรษฐกิจปรับโครงสร้างตัวเองและทำให้เป็นสมัยใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตเช่นกัน

ในอีกด้านหนึ่ง ธนาคารโลกออกมาเตือนว่าเศรษฐกิจโลกปี 2024 มีแนวโน้มจะขยายตัวเพียง 2.4% ซึ่งหากไม่รวมกับการหดตัวในช่วงโควิด-19 ระบาด ถือว่าเติบโตต่ำที่สุดนับจากวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2009 อีกทั้งเป็นการเติบโตที่ต่ำติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยสาเหตุหลักเกิดจากดอกเบี้ยสูง และความขัดแย้งในยุโรประหว่างยูเครนกับรัสเซีย และในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลกับฮามาส

ในส่วนของสหรัฐอเมริกา ปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 1.6% เนื่องจากใช้นโยบายการเงินเข้มงวด อย่างไรก็ตาม ปี 2023 เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่ง โดยเติบโต 2.6% สูงกว่าคาด เนื่องจากผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างแข็งแกร่ง ส่วนเศรษฐกิจยูโรโซนน่าจะย่ำแย่ คาดว่าจะเติบโตได้เพียง 0.7% ในปีนี้

ส่วนประเทศจีน ประเมินว่าการเติบโตจะชะลอลงเหลือ 4.5% ในปีนี้ต่ำที่สุดในรอบกว่า 30 ปี เนื่องจากผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง ขณะที่วิกฤตหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเรื้อรังต่อไป จึงคาดว่าปีหน้าการเติบโตจะลดลงอีกเหลือ 4.3% ขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนาโดยรวมจะเติบโต 3.9% น้อยกว่าปีที่แล้วซึ่งเติบโต 4% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทศวรรษ 2010 โดยเฉลี่ย 1%

ธนาคารโลกแนะนำว่า หนทางที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ก็คือเพิ่มงบประมาณลงทุนต่อปีให้มากกว่า 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดและปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป