เหตุผลที่ควรหวังในทางบวก ต่อเศรษฐกิจสหรัฐปี 2024

ศก.สหรัฐ
People cross 42nd street in New York City, on December 28, 2023. (Photo by Kena Betancur / AFP)
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

หลายคนกลัวว่าเศรษฐกิจสหรัฐปี 2023 ที่ผ่านมา อาจจะเกิดภาวะ “ถดถอย” แต่ผลปรากฏว่า มันกลายเป็นปีที่พิสูจน์ให้เห็นความสามารถในการฟื้นตัวและยืดหยุ่นอย่างโดดเด่น จนสามารถพาตัวเอง “ซอฟต์แลนดิ้ง” ได้ แม้ว่าหลายคนทำนายว่าไม่มีทางเป็นไปได้ ส่วนตลาดหุ้นก็คึกคักสวนทางคำทำนายของนักวิเคราะห์ ซึ่งบางคนเชื่อว่าดัชนีเอสแอนด์พี 500 อาจจะดิ่งลงเหลือ 3,000 จุดในสิ้นปี แต่ผลที่ออกมาคือมันทำสถิติใหม่และสามารถปิดท้ายปีที่ระดับเกิน 4,700 จุด

ส่วนในปี 2024 นี้ ซีเอ็นเอ็นระบุว่า มีปัจจัยที่เป็นรูปธรรม ที่น่าจะทำให้มีความหวังในทางบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐ โดยรวบรวมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ อย่างเช่น อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงมาก อัตราการเลิกจ้างงานที่อยู่ในระดับต่ำมาก ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นไล่ทันเงินเฟ้อ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตรียมจะลดดอกเบี้ย อันเท่ากับเป็นการประกาศว่าเฟดมีชัยชนะเหนือเงินเฟ้อ ซึ่งจะนำไปสู่การทำให้ตลาดหุ้นมีความคึกคักมาก

ในเดือนพฤศจิกายน 2023 เงินเฟ้อสหรัฐลดลงเหลือ 3.1% จากที่เคยขึ้นไปสูงถึง 9.1% ในเดือนมิถุนายน 2022 ขณะที่ “มาร์ก แซนดิ” นักเศรษฐศาสตร์ของมูดี้ส์ อนาไลติกส์ คาดว่าเงินเฟ้อจะกลับไปสู่ระดับใกล้เป้าหมาย 2% ของ
เฟดในปลายปี 2024

ส่วนราคาน้ำมันตลอดปี 2023 อ่อนตัวลงมากหลังจากเคยพุ่งขึ้นเหนือ 5 ดอลลาร์ต่อแกลลอนในปี 2022 ส่วนปี 2024 คาดว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยจะต่ำลงไปอีก ทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันลดลง 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปี 2023

เงินเฟ้อที่ลดลงมาก ทำให้ปีที่แล้ว เฟดสามารถหยุดการขึ้นดอกเบี้ยแบบโหด ๆ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจและทำให้นักลงทุนหวาดกลัว และในปี 2024 เฟดส่งสัญญาณว่ามีโอกาสจะลดดอกเบี้ย ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์จากค่ายใหญ่ ๆ อย่างมูดี้ส์ เชื่อว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง เริ่มในเดือนพฤษภาคม

ส่วนโกลด์แมน แซกส์ ประเมินว่าเฟดจะเริ่มหั่นดอกเบี้ยเร็วกว่านั้นคือเดือนมีนาคม ดอกเบี้ยที่ลดลงจะส่งผลดีต่อภาคเศรษฐกิจจริง เพราะช่วยลดภาระดอกเบี้ยของผู้กู้เงินซื้อบ้าน รวมทั้งสินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิต

ในแง่ของการว่างงาน จะเห็นว่าถึงแม้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย แต่อัตราว่างงานยังสามารถยืนระยะได้ในอัตรา 3.7% ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 50 ปี อีกทั้งจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่ต่ำมากเป็นประวัติการณ์ แสดงให้เห็นว่าบรรดานายจ้างต้องการรักษาพนักงานไว้

หากยังสามารถรักษาแนวโน้มนี้ได้ต่อไป จะเกื้อหนุนให้ผู้บริโภคกล้าใช้จ่ายเงิน และเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากภาคการบริโภคมีสัดส่วนสูงต่อจีดีพีของสหรัฐ

ค่าจ้างและเงินเฟ้อที่มีความสมดุลมากขึ้น จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สนับสนุนเศรษฐกิจ โดย มาร์ก แซนดิ นักเศรษฐศาสตร์ของมูดี้ส์ อนาไลติกส์ และ ศาสตราจารย์จัสติน วูล์ฟเฟอร์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน ชี้ว่า หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวจากโควิ-19 ส่วนใหญ่แล้ว เศรษฐกิจจะเติบโตเร็วกว่าค่าจ้างหรือเงินเดือน

ซึ่งหมายความว่าค่าจ้างแท้จริงเมื่อปรับด้วยเงินเฟ้อแล้วลดลง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มนี้เริ่มจะเปลี่ยนแปลง โดยที่ค่าจ้างจะสามารถไล่ทันเงินเฟ้อ เชื่อว่าปี 2024 แนวโน้มนี้จะมีแรงเสริมมากขึ้น จนในที่สุดรายได้จะชนะเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม บรรดานักเศรษฐศาสตร์ ก็ไม่ลืมเตือนว่า แม้แนวโน้มปี 2024 จะเป็นไปในทางบวก แต่หลายสิ่งหลายอย่างก็อาจไม่เป็นไปตามคาด เพราะอาจมีเหตุการณ์ร้าย ๆ เกิดขึ้นแบบไม่คาดคิด

อย่างเช่นวิกฤตธนาคารที่เคยเกิดขึ้นแบบเดียวกับปี 2023 ปัจจัยน่ากังวลอีกอย่างหนึ่งก็คือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปลายปี 2024 การแข่งขันที่สูสีและการโต้แย้งผลการเลือกตั้งอาจกระตุ้นให้เกิดความไม่แน่นอนและความไม่สงบในสังคม หากกรณีดังว่าเกิดขึ้นจริง ก็จะทำร้ายตลาดหุ้นและเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง

กระนั้นก็ตาม ศาสตราจารย์วูล์ฟเฟอร์ ยังมีความหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะปกติบ้างในระดับหนึ่ง หลังจากผจญกับความปั่นป่วนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา