ตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่เพอร์ฟอร์มดีสุดในเอเชียกำลังได้รับแรงหนุนใหม่ให้พุ่งทะยานขึ้นไปอีก เพราะล่าสุดมีข้อมูลว่า บริษัทชั้นนำในตลาดหุ้นญี่ปุ่นทำกำไรพุ่งแรงจากผลประกอบการปีที่ผ่านมา
จากการรวบรวมและพิจารณาข้อมูลบริษัทชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (TSE) โดย “นิกเคอิ” พบว่า บริษัทชั้นนำประมาณ 610 แห่ง ทั้งบริษัทในภาคการผลิตและนอกภาคการผลิต มีกำไรสุทธิงวด 9 เดือน (เดือนเมษายน-ธันวาคม 2023) เพิ่มขึ้น 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
กำไรสุทธิของบริษัทนอกภาคการผลิตโตขึ้น 23% ซึ่งอุตสาหกรรมที่กำไรพุ่งแรงเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริการขนส่ง-การเดินทาง เป็นผลมาจากการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
ส่วนที่มีนัยสำคัญ คือ บริษัทในภาคการผลิตจำนวน 285 บริษัท กำไรสุทธิโตขึ้น 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า นับเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2017 ที่โต 44% (ไม่นับปี 2021 ที่ฟื้นจากภาวะไม่ปกติด้วยอัตราการเติบโต 98%) ซึ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบหลายปีนี้ เป็นผลมาจากการขึ้นราคาสินค้า และยอดขายรถยนต์กับเครื่องจักรที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐอเมริกา
อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของกำไรที่เติบโตขึ้นในภาคการผลิต เห็นได้จากผลกำไรของบริษัทรถยนต์และชิ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นมากถึง 95% มูลค่าผลกำไรรวม 4.55 ล้านล้านเยน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 40% ของกำไรสุทธิของภาคการผลิตทั้งหมด ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องจักรก็ทำผลงานได้ดี โดยมีกำไรเพิ่มขึ้น 33%
ส่วนอัตรากำไรสุทธิของบริษัทในภาคการผลิต ช่วงเดือนเมษายน-ธันวาคม 2023 เฉลี่ยอยู่ที่ 6.8% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์การเงินโลกในปี 2008 เพราะถึงแม้ว่าราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น แต่ผู้ผลิตก็สามารถเพิ่มราคาขายสินค้าได้ และยังทำยอดขายได้มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในตลาดอเมริกาเหนือ
“บริษัทต่าง ๆ กำลังเพิ่มความสามารถในการทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ต้องรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ” มาซาฮิโระ อิชิกาวะ จากบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ “ซูมิโตโม มิตซุย ดีเอส แอสเซต แมเนจเมนต์” กล่าว
มี 52% หรือประมาณ 148 บริษัทจากทั้งหมด 285 บริษัท ในภาคการผลิตที่ทำกำไรได้มากขึ้น โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 47% ในช่วงเดียวกันของปี 2022 นอกจากบริษัทรถยนต์และชิ้นส่วนที่กำไรเพิ่มขึ้น 95% แล้ว กลุ่มที่กำไรเพิ่มขึ้นตามมาคือ อุตสาหกรรมอาหาร ที่กำไรสุทธิโตขึ้น 56%
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทที่มีผลการดำเนินงานแยกเป็นสองทิศทาง สามารถแบ่งได้ชัดเจนว่าอะไรเป็นปัจจัยขับเคลื่อน นั่นคือ บริษัทที่ทำกำไรได้ดีขึ้นเป็นกลุ่มบริษัทที่ส่งออกสินค้าไปตลาดอเมริกาและขายภายในประเทศญี่ปุ่น ขณะที่กลุ่มบริษัทที่ทำกำไรได้น้อยลงหรือเท่าเดิม เป็นกลุ่มบริษัทที่ขายในตลาดจีนเป็นหลัก ซึ่งต้องดิ้นรนกับการบริโภคที่ซบเซาในจีน
“ชิงโงะ อิเดะ” จากบริษัทวิจัย เอ็นแอลไอ รีเสิร์ช อินสทิทิวต์ วิเคราะห์ว่า อนาคตเศรษฐกิจจีนมีความไม่แน่นอนสูง บริษัทญี่ปุ่นจึงถูกบังคับให้ต้องพิจารณากลยุทธ์ธุรกิจในระดับโลกใหม่อีกครั้ง บริษัทญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะถอยห่างจากจีนมากขึ้น รวมถึงประเมินการผลิตใหม่ด้วย