โตโยต้าโดดร่วมวงลงทุนในบริษัทลูก TSMC ตั้งโรงงานผลิตชิปแห่งใหม่ในญี่ปุ่น 

โตโยต้า TSMC
ภายในโรงงานผลิตชิปของ TSMC (ที่มาภาพ : TSMC)

โตโยต้า มอเตอร์ โดดร่วมวง 2 บริษัทญี่ปุ่น ร่วมลงทุนใน JASM บริษัทลูกของ TSMC ตั้งโรงงานผลิตชิปแห่งที่ 2 ในญี่ปุ่น หวังเพิ่มความมั่นคงของห่วงโซ่การผลิต

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2024 บริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง (Taiwan Semiconductor Manufacturing Co.) หรือ TSMC ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลกจากไต้หวัน ประกาศขยายการลงทุนของ เจแปน แอดวานซ์ เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง (Japan Advanced Semiconductor Manufacturing : JASM) บริษัทลูกของ TSMC ในญี่ปุ่น โดยจะก่อสร้างโรงงานผลิตชิปแห่งที่ 2 ในญี่ปุ่นที่จังหวัดคุมาโมโตะ พร้อมกันนี้ได้ประกาศการเข้าร่วมลงทุนของโตโยต้า มอเตอร์ (Toyota Motor) ด้วย 

นอกจากโตโยต้าที่เข้ามาเป็นผู้ร่วมทุนรายใหม่ของ JASM แล้ว บริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนใน JASM อยู่แล้วในปัจจุบัน ทั้งโซนี่ (Sony) และเดนโซ่ (Denso) ก็จะลงทุนเพิ่มด้วย ซึ่งหลังจากการเข้ามาลงทุนของโตโยต้าและการเพิ่มทุนของผู้ร่วมทุนเดิม TSMC จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นหลักที่สัดส่วน 86.5% ขณะที่โซนี่จะถือหุ้น 6.0% เดนโซ่จะถือ 5.5% และโตโยต้าจะถือ 2.0% 

TSMC กล่าวว่า โรงงานแห่งแรกซึ่งเริ่มสร้างในเมืองคุมาโมโตะในเดือนเมษายน 2022 มีกำหนดเริ่มเปิดดำเนินการในปีนี้ ส่วนโรงงานแห่งที่ 2 จะเริ่มก่อสร้างภายในสิ้นปีนี้ และมีกำหนดจะเริ่มดำเนินการภายในสิ้นปี 2027

TSMC เปิดเผยว่า มูลค่าการลงทุนรวมใน JASM จะเกิน 20,000 ล้านดอลลาร์ “ด้วยการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากรัฐบาลญี่ปุ่น” แต่ไม่เปิดเผยมูลค่าของการระดมทุนรอบล่าสุด 

TSMC คาดหวังว่าขนาดกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจะช่วยปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนโดยรวมและประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานของ JASM โดยคาดว่าโรงงานทั้งสองแห่งนี้จะมีกำลังการผลิตเวเฟอร์ขนาด 12 นิ้วมากกว่า 100,000 ชิ้นต่อเดือน แต่แผนกำลังการผลิตอาจมีการปรับเปลี่ยนตามความต้องการของลูกค้า และคาดว่าโรงงานสองแห่งจะมีการจ้างงานระดับทักษะทางเทคโนโลยีขั้นสูงโดยตรงมากกว่า 3,400 ตำแหน่ง

นิกเคอิเอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่าญี่ปุ่นหลุดออกจากการแข่งขันในการผลิตชิปขั้นสูงเมื่อหลายสิบปีก่อน โดยขีดความสามารถในการผลิตชิปของบริษัทในญี่ปุ่นในปัจจุบันคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 40 นาโนเมตร

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีหลัง ๆ มานี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดให้การฟื้นฟูศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมชิปเป็นเป้าหมายเชิงนโยบายที่สำคัญ โดยจัดสรรเงินอุดหนุนมูลค่ากว่าหมื่นล้านดอลลาร์ และออกมาตรการสนับสนุนอื่น  ๆ ซึ่งโครงการของ TSMC ที่คุมาโมโตะก็เป็นโครงการความคิดริเริ่มสำคัญที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น

ส่วนโตโยต้าผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลกก็ได้กระชับความสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ด้วยความหวังว่าจะสร้างเสถียรภาพของการจัดหาชิปขั้นสูงสำหรับใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติของโตโยต้า ไม่ให้ประสบปัญหาขาดแคลนชิปเหมือนที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ เคยประสบมาในช่วงสองสามปีก่อนหน้านี้