กัมพูชาเตรียมยื่น “สงกรานต์” และ 9 ทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ขึ้นทะเบียน “มรดกโลก”

สงกรานต์กัมพูชา
การละเล่นสาดน้ำสงกรานต์ที่วัดพนม ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2023 (Photo by TANG CHHIN SOTHY / AFP)

กัมพูชาเตรียมยื่น “สงกรานต์” และทรัพย์สินทางวัฒนธรรมอื่น ๆ รวม 10 รายการต่อยูเนสโก เพื่อขอขึ้นทะเบียน “มรดกโลก” 

สำนักข่าวซินหัว (Xinhua) ของจีนรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2024 ฮุนมาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ประกาศแผนเสนอรายชื่อทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ 7 รายการ และทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ 3 รายการ ต่อยูเนสโก (UNESCO) เพื่อขอขึ้นบัญชีรายชื่อมรดกโลก

สถานที่ 7 แห่งที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ ได้แก่ 

  1. อดีตเรือนจำเอ็ม-13 (M-13)
  2. พิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตวลสเลง และศูนย์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เจืองแอ็ก 
  3. วัดบันทายฉมาร์ 
  4. สถานที่ตั้งของอังกอร์เบอเรยและพนมฎา 
  5. โบราณสถานภูเขาพนมอูดง 
  6. ปราสาทพระขรรค์กำปงสวาย 
  7. วัดเบ็งเมเลีย และอุทยานเทือกเขาพนมกุเลน
กัมพูชา สงกรานต์
บรรยากาศการเฉลิมฉลองประเพณีสงกรานต์ที่วัดเจ้าสายเทวดา เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2022 (ภาพโดย TANG CHHIN Sothy / AFP)

ส่วนทรัพย์สินอีก 3 รายการที่วางแผนยื่นเสนอเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ได้แก่ 

  1. สงกรานต์กัมพูชา 
  2. กรอมา (Krama) ผ้าพันคอที่ทอแบบดั้งเดิม 
  3. ประเพณีการแต่งงานแบบเขมร

“เราจะเสนอรายชื่อเหล่านี้เป็นมรดกโลกของยูเนสโก เพื่อให้ทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษของเราได้รับการยอมรับและอนุรักษ์ในระดับสากล” ฮุน มาเนตกล่าว พร้อมเสริมว่าปกติแล้วการขึ้นทะเบียนจะใช้เวลาเกือบ 2 ปี และแต่ละประเทศสามารถยื่นเสนอรายชื่อเป็นมรดกโลกของยูเนสโกได้ปีละ 1 รายการเท่านั้น 

กัมพูชาจะยื่นเอกสารเพื่อขึ้นทะเบียนสงกรานต์กัมพูชาลงในรายการมรดกที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกในปี 2025 และคาดว่าจะได้รับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการในปี 2026

ทั้งนี้ “สงกรานต์” เป็นคำภาษาสันสกฤตที่ใช้เรียกวันปีใหม่ตามปฏิทินทางพุทธศาสนา ซึ่งเทศกาลนี้มีการเฉลิมฉลองในหลายประเทศที่นับถือพุทธศาสนาในเอเชีย เช่น กัมพูชา ไทย ลาว และเมียนมา