ส่องมาตรการเยียวยา-ราคาค่าปรับจากทั่วโลก เมื่อ “เมโทร-รถไฟฟ้า” ดีเลย์!

Reuters

“อาณัติสัญญาณขัดข้อง” น่าจะเป็นคำที่หลายๆ คนในประเทศไทยเพิ่งจะได้ยินเป็นครั้งแรก ภายหลังจากรถไฟฟ้าบีทีเอสมีปัญหาไม่สามารถเดินรถได้เป็นปกติตั้งแต่ช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา ลากยาวต่อไปช่วงเย็น ฉลองวันเริ่มงานของสัปดาห์

สาเหตุหลักเกิดจากการเดินรถของบีทีเอสใช้คลื่นความถี่สาธารณะ 2400 เมกะเฮิร์ต (MHz) ในการนำทาง ซึ่งอุปกรณ์ทั่วไปสามารถเข้ามาใช้สัญญาณได้ด้วย ในขณะที่คลื่น 2400 mhz อยู่ห่างจากคลื่น 2300 mhz ของทีโอที-ดีแทค 30 mhz

แม้ว่าบีทีเอสได้ออกมาขอโทษผู้บริโภค จะดำเนินการย้ายช่องความถี่สื่อสารของระบบอาณัติสัญญาณไปใช้คลื่นความถี่ช่อง 2480 – 2495 MHz พร้อมสัญญาจะติดตั้งตัวรับสัญญาณใหม่พร้อมฟิลเตอร์ป้องกันการรบกวนอย่างเร็วที่สุดภายในคืนวันศุกร์ (29 มิ.ย.) พร้อมใช้งานในวันเสาร์ (30 มิ.ย.) แต่ก็ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะออกหัวหรือก้อยและปัญหาจะซ้ำรอยหรือไม่ ขณะที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้แนะทางออกให้บีทีเอสเปลี่ยนย่านความถี่

ในโอกาสที่ความวุ่นวายและวิกฤตทางการสัญจรเกิดขึ้นทั่วกรุงเทพ “ประชาชาติธุรกิจ” ขอใช้พื้นที่ในการนำเสนอเคสปัญหาคล้ายๆ กันจากทั่วโลก พร้อมวิธีเยียวยาและแก้ปัญหาในหลายประเทศ

“ฮ่องกง” สั่งปรับ MTR 2 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ในกรณีสัญญาณเดินรถขัดข้อง 11 ชั่วโมง

เมื่อต้นเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ความผิดปกติของสัญญาณเดินรถใต้ดิน MTR ทำให้รถใต้ดินสาย Kwun Tong เดินรถติดขัดนานถึง 11 ชั่วโมง

ผู้โดยสารนับพันคนล้นสถานีตั้งแต่ช่วงสายของวัน หลายคนเปลี่ยนใจไปขึ้นรถบัสโดยสารสาธารณะแทน ก่อนที่ระบบเดินรถจะกลับมาเป็นปกติในตอนค่ำ

ภาพจาก South China Morning Post

ภายใต้กฎการจัดการประสิทธิภาพการบริการปี 2013 หากเทียบแล้ว MTR จะต้องจ่ายค่าปรับต่อปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นมูลค่ามากถึง 20 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง อย่างไรก็ตาม สำนักงานขนส่งและการเคหะแห่งชาติฮ่องกง ได้พิจารณาแล้วว่า การหยุดเกินรถเกิดขึ้นเพียง 83 นาทีเท่านั้น จากนั้นรถสามารถเคลื่อนตัวได้โดยช้า จึงสรุปค่าปรับที่ 2 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 8 ล้านบาท)

รถไฟใต้ดินของฮ่องกงถูกขยับขยายเส้นทางเป็น 2 เท่าตัวนับตั้งแต่ปี 1977 ในกรณีที่เกิดขึ้นนั้น MTR อ้างว่า ปัญหาสัญญาณเดินรถในสาย Kwun Tung นั้นมีความซับซ้อนกว่าสายอื่นๆ มาก ทั้งในระบบราง ระบบไฟฟ้า และระบบสื่อสาร นอกจากนี้ยังใช้เงินกว่า 8 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกงในการบำรุงรักษาทุกปี โดยอยู่ระหว่างการอัพเกรดระบบใหม่

ระบบคอมพิวเตอร์เมโทรเมลเบิร์นล่ม รัฐปรับอ่วม 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ถือเป็นหนึ่งใน Case Study ที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะมีผู้ได้รับผลกระทบกว่าหมื่นคนทั่วเมือง โดยเหตุการณ์ระบบคอมพิวเตอร์ล่มทำให้ไม่สามารถเดินรถใต้ดินได้นั้น เกิดขึ้นในช่วงไพรม์ไทม์ หรือช่วงเลิกงานของประชากรเมลเบิร์นพอดิบพอดี

Twitter: Laura Louise

เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว การหยุดเดินรถกว่า 3 ชั่วโมง ส่งผลให้ 224 เที่ยวรถต้องยกเลิก และ 378 เที่ยวรถช้ากว่ากำหนด

ต่อมาในเดือนกันยายน ทางการวิกตอเรียจึงได้สั่งปรับบริษัทผู้ให้บริการเดินรถ ในมูลค่าสูงสุดที่สัญญาจะสามารถเรียกเก็บได้ที่ 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 40 ล้านบาท

ในวันนี้ ผู้คนเปลี่ยนเส้นทางมาขึ้นรถแทรมจนแน่นขนัด, (ABC News: Chris Le Page)

“เจอร์รอน ไวมาร์” ซีอีโอบริษัท Public Transport Victoria (PTV) ผู้ให้บริการเดินรถเมโทรเมลเบิร์น ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า นี่คือค่าปรับสูงสุดต่อเดือนที่จะถูกสั่งปรับได้ ซึ่งนอกเหนือจากค่าปรับ ทาง PTV จะต้องรีฟันด์ให้กับผู้โดยสาร 175,000 คนที่ได้รับผลกระทบ ด้วยมูลค่ากว่า 627,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

รัฐบาลออสเตรเลียประณามเหตุการณ์เมโทรชัตดาวน์ในครั้งนี้ว่า “เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ น่าโมโห และน่าหงุดหงิด” โดย “จาซินตา อัลแลน” รัฐมนตรีคมนาคมสาธารณะของออสซี่ ได้ออกมาฉะว่า

“จริงๆ แล้วมันก็มีระบบแบ็กอัพนะ แต่ในกรณีนี้ก็พังเหมือนกัน ฉันว่าการที่ระบบคอมพิวเตอร์ล้มเหลวขนาดนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มาก่อนเลย”  เธอเสริมว่า การสั่งปรับได้ถูกสอบสวนจากทางการ โดยคำนึงถึงทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้โดยสารและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ญี่ปุ่นขอโทษผู้โดยสาร กรณีออกรถเร็วไป “20 วินาที”

เรามักจะได้ยินกรณีผู้บริหารสัมปทานรถไฟญี่ปุ่นออกมาตั้งโต๊ะแถลงกรณีรถเลทล่าช้า ตลอดจนพนักงานเดินเข้ามาขอโทษผู้โดยสารบนขบวน หากเกิดความผิดพลาดในการเดินรถเล็กๆ น้อยๆ

ซึ่งไม่ใช่แค่ออกรถล่าช้าเท่านั้น แต่ออกรถเร็วไปก็ด้วย!

เมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว ผู้ให้บริการรถเมโทร บริษัท Metropolitan Intercity Railway Co.  ผู้ให้บริการรถไฟระหว่างโตเกียวและเมืองทสึกุบะ ได้ออกมาขอโทษสาธารณะชน กรณีที่ออกรถเร็วไป 20 วินาที

ในแถลงการณ์ขอโทษ ทางบริษัทผู้ให้บริการทสึกุบะเอ็กซ์เพรส ได้ระบุว่า “รถไฟจะออกจากสถานีมินามิ นากาเรยะมะ ทางตอนเหนือโตเกียว ในเวลา 9.44.40 ตามเวลาท้องถิ่น แต่กับออกในเวลา 9.44.20” ซึ่งเป็นความผิดของสตาฟฟ์ที่ไม่เช็คตารางให้ดี โดยทางบริษัทอ้างว่าไม่ได้มีผู้โดยสารร้องเรียนแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้น ที่รถไฟของญี่ปุ่นจะออกรถผิดจากเวลาตามตาราง และได้ชื่อว่าเป็นบริการขนส่งที่น่าเชื่อถือที่สุดในโลก

กรณีที่ออกรถเลทเพียง 1 นาที ผู้ให้บริการรถไฟญี่ปุ่นก็เคยออกมาขอโทษแล้วเช่นกัน ทั้งนี้ หากเกิดเหตุการณ์ที่รถไฟญี่ปุ่นเลทกว่าตาราง นายสถานีจะออกตั๋ว “รับรองการเดินรถสายกว่าตารางเวลา” หรือ delay certificate ให้ในวันเวลานั้นๆ ผู้โดยสารนำไปยืนยันกับทางบริษัทหรือสถานศึกษาได้ โดยสามารถขอรับได้ทันที

ตัวอย่าง delay certificate

ทั้งนี้ สำหรับรถไฟฟ้าของบีทีเอสไทย นับตั้งแต่ต้นปี 2018 เป็นต้นมา จำนวนการขัดข้องเกิดขึ้นทะลุไปกว่า 30 ครั้ง โดยเฉพาะใน 2-3 วันที่ผ่านมา

นับตั้งแต่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) เข้ามาบริหารรถไฟฟ้าบีทีเอสนับตั้งแต่ 19 ปีที่แล้ว แม้ว่าจะมีการขัดข้องการเดินรถอาจจะร่วมร้อยครั้ง แต่ก็ยังไม่มีเคยมีการเรียกเก็บค่าปรับจากเจ้าของสัมปทานอย่างสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่าหลังจากการหารือกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส), สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ได้ข้อสรุปว่า กทม. จะมีการพิจารณาเปรียบเทียบปรับค่าจ้างเดินรถบีทีเอส เป็นจำนวนเงิน 1,800,000 บาท จากปัญหาความขัดข้องที่เกิดขึ้นในเดือน มิ.ย.นี้ คิดเป็นอัตรา 0.6% จากสัญญาเดินรถจำนวน 300 ล้านบาท และมาจากการที่บีทีเอสไม่สามารถเดินรถได้ตามตัวชี้วัด (KPI) ด้านการตรงต่อเวลาที่ 97.5% แต่ต้องดูว่าการหยุดเดินรถในเดือนนี้จะมีผล KPI เท่าไหร่ อย่างไรก็ตามสัมปทานอาจจะแก้ไขไม่ได้ เพราะในสัญญาไม่ได้เปิดช่องสำหรับการแก้ไขไว้

ขณะที่ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) ได้แถลง ณ สำนักงาน กสทช. ในวันนี้ด้วย ระบุว่า บีทีเอสมีแผนที่จะเยียวยาลูกค้า โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการคิดแผน

ทั้งนี้ บีทีเอสได้เยียวยาเบื้องต้น หากผู้ใช้บัตรแรบบิทไม่ประสงค์จะเดินทางแล้ว จะคืนค่าโดยสารให้เต็มจำนวน ส่วนผู้ซื้อบัตรที่สถานีสามารถขอรับเงินคืนเต็มจำนวนได้เช่นกัน ส่วนผู้โดยสารที่รอรถนานกว่าครึ่งชั่วโมง ทางบีทีเอสชี้แจงจะเยียวยาเป็นรายกรณี โดยขอหารือภายในบริษัทก่อน

ผู้โดยสารสามารถขอใบรับรองความล่าช้าการเดินรถจากบีทีเอสได้ด้วยเช่นกัน โดยแจ้งรายละเอียดผ่านทางอีเมล [email protected] ซึ่งบีทีเอสจะทำการออกใบรับรองกลับมาให้