“INDOPACOM” แผนใหม่มะกัน กลยุทธ์ยั่วยุ “จีน” ต่อจากสงครามภาษี

การเป็นปฏิปักษ์ระหว่าง “จีนและสหรัฐอเมริกา” ในเวลานี้ไม่ใช่แค่เพียงประเด็น “สงครามการค้า” อีกต่อไป แต่กำลังหมายถึงการยั่วยุสู่สงครามอย่างรอบด้าน โดยจะเห็นวิธีการต่าง ๆ ทั้งการแผ่อิทธิพลและแสวงหาพันธมิตรนอกประเทศของสองขั้วยักษ์ทางอำนาจของโลกมากขึ้น

บทวิเคราะห์ของ “ไมเคิล แคลร์”ผู้เชี่ยวชาญด้านสันติภาพและความมั่นคงของโลก จากวิทยาลัยนิวแฮมป์เชียร์ และคอลัมนิสต์ประจำเว็บไซต์ TomDispatch ตั้งข้อสันนิษฐานในประเด็น “War with China on the Horizon” ซึ่งหมายถึงความน่าจะเป็นในการเปิดสงครามระหว่างสหรัฐและจีนในทุก ๆ ด้าน

หลังจากที่นายเจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ประกาศว่า ทางการวอชิงตันมีคำสั่งให้เปลี่ยนชื่อ “กองบัญชาการทหารภาคแปซิฟิก” หรือ PACOM ซึ่งทำหน้าที่ดูแลกำลังทหารของสหรัฐทั้งหมดในเอเชีย เปลี่ยนมาเป็น “กองบัญชาการทหารภาคอินโด-แปซิฟิก” หรือ INDOPACOM โดยอ้างความเชื่อมโยงของมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และสหรัฐมุ่งมั่นที่จะคงความเป็นมหาอำนาจที่ปกครองในทั้งสองมหาสมุทร

นายแคลร์มองว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณเชิงสัญลักษณ์ในการยั่วยุจีน และมีนัยว่ากำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการเผชิญหน้ากับจีน ซึ่งจะเป็นการเผชิญหน้าต่อเนื่องจากการเปิดศึกสงครามภาษีตอนนี้

ขณะที่มุมมองของนักวิเคราะห์จากรอยเตอร์สเห็นตรงกันว่า การเปลี่ยนชื่อเป็น “INDOPACOM” เป็นการเชื้อเชิญชาติพันธมิตรให้เข้าร่วมกับเพนตากอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะ “กองกำลังอินเดีย” ซึ่งจีนและอินเดียเป็นคู่ปรับกันมานานในประเด็นน่านน้ำ สหรัฐต้องการให้อินเดียเข้าร่วมกองทัพชาติพันธมิตรอื่น ภายใต้ระบบพันธมิตรแปซิฟิกของอเมริกา

ในขณะเดียวกัน ฝั่งรัฐบาลจีนก็เริ่มออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้นในการแสวงหาพันธมิตรนอกประเทศ เมื่อเร็ว ๆ นี้ จีนและเนปาลบรรลุข้อตกลงความร่วมมือในการสร้างทางรถไฟเชื่อม “ทิเบตและกาฐมาณฑุ” หนึ่งในโครงข่ายเส้นทางข้ามภูเขาหิมาลัย ที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญพอ ๆ กับโปรเจ็กต์ One Belt One Road

แม้การเคลื่อนไหวของจีนจะไม่ได้เกี่ยวพันกับอิทธิพลในน่านน้ำโดยตรง แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่า ทางการปักกิ่งไม่ได้นิ่งเฉยที่จะหาพันธมิตรใหม่ ๆ ท่ามกลางแรงยั่วยุจากวอชิงตัน นอกจากนี้จีนยังประกาศที่จะลงทุนด้านพลังงาน โรงงานซีเมนต์ และการเกษตรในเนปาล ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณโดยตรงไปถึงอินเดียในการขยายอิทธิพลแบบซึ่งหน้า ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นกองทัพของอินเดียเข้าร่วมกับสหรัฐ ในการร่วมปกป้องน่านน้ำอินเดียในอนาคต

ทั้งนี้ การเตรียมเปิดตัว “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนิวเคลียร์” ของบริษัทนิวเคลียร์แห่งชาติจีน (CNNC) ในนครเทียนจิน ซึ่งหลักสูตรจะครอบคลุมถึงนิวเคลียร์ที่ใช้ปกป้องทางน้ำ เน้นที่การวิจัยเทคโนโลยีต่าง ๆ ของนิวเคลียร์ที่ล้ำสมัย โดยแคลร์มองว่า การขยับตัวจากจุดเล็ก ๆ ของจีนอย่างการเปิดหลักสูตรนี้ เป็นการประกาศชัดว่าจีนพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสหรัฐเช่นกัน

สิ่งหนึ่งที่ต้องติดตามในกรณีสงครามต่อเนื่องจากสงครามการค้าก็คือ ประเทศที่เกี่ยวข้องกับทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย จะเตรียมรับมือกับพายุจาก 2 ขั้วอำนาจโลกอย่างไร ขณะที่ประเทศเล็ก ๆ ที่ยังต้องพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ จำเป็นต้องศึกษาทักษะการเอาตัวรอดจากเกมนี้อย่างชาญฉลา เพราะผลกระทบที่จะตามมาไม่ใช่แค่ระเบิดเวลาของสงครามน่านน้ำ แต่อาจรวมถึงการค้าและการลงทุนด้วย