โกลาหล “เบร็กซิต” การค้า “อียู-สหรัฐ” ที่ต้องเลือก

Jack Taylor/Pool Photo via AP

การเยือนสหราชอาณาจักรของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ระยะเวลา 4 วัน ที่เพิ่งจบลงไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา น่าจะทำให้ “เทเรซา เมย์” นายกรัฐมนตรีที่ได้ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่ง ดอกไม้เหล็กของโลก ใจเต้นตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ ไม่น้อย

ระหว่างดินเนอร์ต้อนรับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาฝีปากจัดเลือดร้อนอย่างทรัมป์ “เดอะ ซัน” หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์แห่งเกาะอังกฤษ ได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ทรัมป์ออกมาชนิดที่อาจเรียกได้ว่าฉีกหน้าเมย์กลางอากาศ

ในบทสัมภาษณ์ทรัมป์ระบุขู่ว่า อาจจะไม่ทำการค้ากับอังกฤษต่อไปหากเมย์ไม่ “ฮาร์ดเบร็กซิต” หรือการแยกตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) อย่างถอนรากถอนโคน ทั้งยังระบุว่า “บอริส จอห์นสัน” รัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งต้องการฮาร์ดเบร็กซิต และได้ลาออกจากตำแหน่งไปพร้อม “เดวิด เดวิส” รัฐมนตรีกิจการเบร็กซิต เพราะขัดใจนโยบายกับเมย์ น่าจะเป็นนายกฯแห่งเกาะอังกฤษได้ดีด้วย ในระยะหลัง การดำเนินแผนเบร็กซิตของเมย์ค่อนไปทาง “ซอฟต์เบร็กซิต” หรือประนีประนอมด้านการค้าต่ออียูมากขึ้น ชนิดทั้งคู่อาจจะยังเข้าตลาดของอีกฝ่ายอย่างเสรีได้เหมือนเดิม

แม้ว่าการพบปะกับทรัมป์จะเต็มไปด้วยรอยยิ้ม แต่ทุกฝ่ายต่างรู้ดีว่านี่คือช่วงเวลาที่เทเรซา เมย์ ยากลำบากที่สุดในการเดินหน้าเบร็กซิต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในบ้านหรือนอกบ้าน ที่ทั้งอียู และสหรัฐ รุมกดดันเธอ ขณะที่มีการเรียกร้องให้เปิดโหวตตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมที่เธอดำรงอยู่ด้วยอีกทาง

ทำไมทรัมป์ถึงอยากจะฮาร์ดเบร็กซิต ?

คำถามน่าจะตอบไม่ยาก เพราะเขาหัวขวาจัดและไม่เชื่อในตลาดเสรีนั่นเอง

ก่อนหน้านี้ทรัมป์มีความพยายามทั้งต้องการล้มเลิกข้อตกลงนาโต้ หรือแม้กระทั่งยุให้อียูแตก เพราะมองว่าทั้ง 2 เขตเศรษฐกิจเอารัดเอาเปรียบการค้าสหรัฐตลอดมา เขาหนุนนโยบายชาตินิยมและกีดกันทางการค้า และแน่นอนว่า หากอังกฤษออกจากอียู และไม่พึ่งพิงตลาดเดียวอียูอีกต่อไป การเจรจาการค้าระหว่างอังกฤษและสหรัฐจะง่ายขึ้น ในข้อที่สหรัฐน่าจะเรียกร้องได้มากขึ้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติสหราชอาณาจักร เปิดเผยตัวเลขระบุว่า ถัดจากตลาดเดียวของกลุ่มอียูแล้ว ตลาดเดียวของสหรัฐอเมริกา คือปลายทางประเทศส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร กล่าวง่าย ๆ คือ สหรัฐคือ “ประเทศ” ปลายทางที่อังกฤษส่งออกไปมากที่สุด เมื่อปี 2016 สหรัฐนำเข้าสินค้าจากอังกฤษไปมากถึง 99,600 ล้านปอนด์ ขณะที่อังกฤษนำเข้าสินค้าจากสหรัฐที่ 66,300 ล้านปอนด์ อังกฤษจึงเกินดุลสหรัฐอยู่ที่ราว 33,000 ล้านปอนด์

สินค้าส่งออกหลักไปสหรัฐ ได้แก่ ยา 6.6 พันล้านปอนด์ รถยนต์ 7.4 พันล้านปอนด์ เครื่องกำเนิดไฟ 3.9 พันล้านปอนด์ ชิ้นงานศิลปะ 2.7 พันล้านปอนด์ น้ำมันสำเร็จรูป 2.6 พันล้านปอนด์

ขณะที่ผลสำรวจจากสำนักสถิติสหรัฐอเมริกา ระบุว่า อังกฤษเป็นคู่ค้าประเทศปลายทางส่งออกลำดับที่ 7 ของสหรัฐ มีความสำคัญรองมาจากแค่ประเทศเพื่อนบ้านของสหรัฐ และประเทศจีน และเมื่อไล่ดูสถิติ พบว่าระหว่างปี 2011-2016 อังกฤษส่งออกไปยังอียูลดลง จาก 243,000 ล้านปอนด์ มาอยู่ที่ 236,000 ล้านปอนด์ ขณะที่การค้ากับสหรัฐมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างช่วงเวลาเดียวกัน การส่งออกจากอังกฤษไปยังสหรัฐเพิ่มขึ้นถึง 26%

แม้ว่าจะมีหลายเรื่องของทรัมป์ที่ไม่น่าพอใจ ท่ามกลางการประท้วงการมาเยือนของทรัมป์ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม เทเรซา เมย์ จึงต้องต้อนรับทรัมป์อย่างดี ภายใต้จุดประสงค์การมาเยือนที่ต้องการจะเจรจายกระดับการค้า

อย่างไรก็ตาม สื่อหลายสำนักในกรุงลอนดอนได้ประณามการมาเยือนของทรัมป์ และคาดโทษเทเรซา เมย์ ว่า เธอไม่ควรบีบตัวเองให้ไร้ทางเลือกมากขึ้นด้วยการพึ่งพิงสหรัฐ บทวิจารณ์จากกองบรรณาธิการ เดอะ การ์เดียน เรียกโดนัลด์ ทรัมป์ ว่า “พันธมิตรที่มาจากนรก” ที่ต้องการแหกทุกกฎค่านิยมของโลกที่มีมานาน

“ไม่มีประธานาธิบดียุคหลังสงครามคนไหนที่ต้องการล้มข้อตกลงการค้าเช่นที่ทรัมป์ทำมาก่อน ประธานาธิบดีสหรัฐควรจะช่วยเหลือสหราชอาณาจักร และมองว่าปัญหาของสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป คือปัญหาหนึ่งที่ต้องแก้ไข โดยจะใช้อำนาจของเขาในฐานะพันธมิตรแห่งอังกฤษ หาหนทางร่วมมือภายหลังจากเบร็กซิต ทรัมป์จึงไม่ได้เป็นพันธมิตรของเรา แต่เป็นภัยต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ต่อประเทศของเรา เทเรซา เมย์ ควรได้รับบทเรียนว่าการบริหารประเทศ ไม่ว่าจะเบร็กซิตหรือไม่เบร็กซิต ควรที่จะหาพันธมิตรที่เห็นคุณค่าและมีค่านิยมทางสังคมร่วมกันในกลุ่มประเทศยุโรปมากกว่า” ตอนหนึ่งของบทวิจารณ์ระบุ