‘จีน-อินเดีย’ รุมจีบแอฟริกา เปิดศึกชิง ‘เจ้าแห่งภูมิภาค’

ช่วงการประชุมผู้นำกลุ่ม “BRICS” (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) ครั้งที่ 10 ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ในวันที่ 25-27 ก.ค.นี้ นับเป็นอีกเหตุการณ์สำคัญที่ได้เห็นความเคลื่อนไหวระหว่าง “จีนและอินเดีย” มากขึ้นในการดำเนินนโยบายเชิงรุก ต่อยอดความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุน และเพื่อก้าวขึ้นสู่ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งทวีปนี้

“จีน” รุกเข้าเป็นผู้ลงทุนในตลาดแอฟริกาอย่างจริงจังตั้งแต่ 13 ปีก่อน ซึ่งได้มีการพัฒนาโครงการแล้ว 293 โครงการ รวมมูลค่า 66,400 ล้านดอลลาร์ ใน 43 ประเทศจากทั้งหมด 54 ประเทศในทวีปแอฟริกา ส่วนใหญ่เน้นที่การลงทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือ ถนน ทางรถไฟ เขื่อน เครือข่ายโทรคมนาคม สถานีไฟฟ้า และสนามบิน

ขณะที่การลงทุนของ “อินเดีย” ในทวีปนี้เกิดขึ้นชัดเจนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาหลังเปิดตัวยุทธศาสตร์ “Focus on Africa” ของนายกรัฐมนตรี นเรนทราโมดี ซึ่งปัจจุบันอินเดียลงทุนใน 29 ประเทศแอฟริกา มีมูลค่ารวมเกือบ 20,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่จะเน้นที่การพัฒนาในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ รวมไปถึงอุตฯที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง, ก๊าซและน้ำมัน พลังงานทางเลือก อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ ที่อินเดียกลายเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ และได้รับการยอมรับว่าเป็นชาติที่พัฒนาธุรกิจดังกล่าวได้เร็วประเทศหนึ่ง

โดยปัจจุบันมีหลายประเทศในแอฟริกาให้การสนับสนุนข้อริเริ่ม “พันธมิตรพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างประเทศ” หรือ International Solar Alliance ที่อินเดียเสนอในที่ประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กรุงปารีส

กระทรวงการต่างประเทศของอินเดียแถลงการณ์ล่าสุดว่า รัฐบาลได้อนุมัติแผนเจรจาที่เรียกว่า “ภารกิจทางการทูต”กับอีก 18 ประเทศในแอฟริกา โดยเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนา 4 ปี ระหว่างปี 2018-2021 นั่นหมายถึงการเพิ่มโอกาสในการเจรจาความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนในประเทศแอฟริกาอื่น ๆ

ทริปการเยือนแอฟริกาของทั้ง 2 ผู้นำจากจีนและอินเดีย เป้าหมายสำคัญไม่ใช่แค่การเข้าร่วมประชุมกลุ่ม “BRICS” เท่านั้น แต่ยังเป็นการเยือนเพื่อเจรจาการค้าการลงทุนกับประเทศอื่นอีก อย่างนัยสำคัญที่ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เลือกที่จะเยือน “เซเนกัล” ประเทศแรก ช่วงก่อนการประชุม เพื่อหารือต่อเนื่องจากปีก่อนที่ต้องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะถนนและท่าเรือ มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเจรจาครั้งที่ 3 ร่วมกับคู่ค้าบริษัทท้องถิ่น ทำให้จีนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเซเนกัลแซงหน้าฝรั่งเศส

อูเดย์ บลาสคาร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์และนักวิชาการอิสระจากอินเดีย กล่าวกับ “ฮินดูสแตนไทมส์” ระบุว่า จีนและอินเดีย เป็นคู่แข่งกันมานาน สถานการณ์การแข่งขันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในภูมิภาคเอเชีย ดังนั้น ทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นภูมิภาคแห่งโอกาสใหม่ อุดมไปด้วยแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งรัฐบาลยังเปิดรับทุกการลงทุนเพื่อให้เกิดการพัฒนา สิ่งที่จะเห็นต่อจากนี้คือ 2 ชาติทุนใหญ่จากเอเชียพยายามขยายบทบาทในแอฟริกาทั้งทวีป

“ศึกการแย่งชิงตลาดแอฟริกาไม่ใช่แค่เวทีการประชุมบริกส์เท่านั้น โดยประเทศรวันดาคือหนึ่งในไฮไลต์สำหรับทริปเยือนแอฟริกาในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการเยือนครั้งแรกของทั้งสองผู้นำ” นายอูเดย์กล่าว

“รวันดา” เป็นอีกประเทศที่ประกาศวิสัยทัศน์ชัดเจนที่สุดในแอฟริกา โดยยุทธศาสตร์ล่าสุดก็คือ มุ่งพัฒนา “เมืองคิกาลี” เป็นเมืองหลวงแห่งนวัตกรรม โดยรัฐบาลพยายามผลักดันประเทศจากสังคมเกษตรกรรมเกือบ 100% สู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยหลายปีมานี้รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้กับหลายบริษัทด้านเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

การเยือนรวันดาในฝั่งรัฐบาลจีนจบที่การลงนามความร่วมมือหลายฉบับ อาทิ การลงทุนในทุกอุตสาหกรรม, การเงิน, อีคอมเมิร์ซ, การบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ส่วนนายกฯโมดีมุ่งไปที่การพัฒนาภาคเกษตรกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเป็นหลัก รวมถึงเจรจาถึงโอกาสการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เพราะปัจจุบันถนนในรวันดากว่า 70% เป็นการลงทุนโดยบริษัทจีน

มาโนช กุบตา จากบริษัทค้าเหล็กและพลังงานข้ามชาติของอินเดียในโมซัมบิก กล่าวกับ “ไทมส์ ออฟ อินเดีย” ว่า แม้ธุรกิจอินเดียจะเข้าไปในประเทศแอฟริกาช้ากว่าหลายประเทศ แต่การลงทุนของอินเดียช่วยให้เกิดการจ้างงานแก่คนแอฟริกัน แตกต่างจากบริษัทจีนที่มักนำแรงงานจีนเข้าไปช่วยพัฒนาโครงการก่อสร้างต่าง ๆ

สิ่งนี้อาจเป็นข้อได้เปรียบสำหรับการเจรจาการค้าการลงทุนของธุรกิจอินเดียในอนาคตได้