ตุรกี “ขาดดุลแฝด” ส่งคลื่นสะท้านทั่วโลก

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย นงนุช สิงหเดชะ

ค่าเงินลีราของตุรกีเมื่อวันที่ 13 สิงหาคมอ่อนลงมากเป็นประวัติการณ์เกือบ 10% ภายในวันเดียว หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากตุรกีเพิ่มขึ้น 2 เท่า เป็น 50 และ 20% ตามลำดับ เพื่อกดดันให้ตุรกีปล่อยตัวบาทหลวงอเมริกัน ซึ่งถูกตุรกีควบคุมตัวฐานมีส่วนร่วมก่อรัฐประหารในตุรกีเมื่อปี 2559

ปกติค่าเงินลีราเทียบกับดอลลาร์สหรัฐก็อ่อนค่ามากอยู่แล้ว แต่เมื่อถูกกดดันซ้ำจากสหรัฐทำให้รวมแล้วตั้งแต่ต้นปีค่าเงินตุรกีอ่อนตัวลงไปราว 40% สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก เพราะนักลงทุนหวั่นเกรงว่าผลกระทบจากการพิพาทกันของอเมริกาและตุรกีจะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงสองประเทศ

นักวิเคราะห์ชี้ว่า เป็นเรื่องน่ากังวลที่สหรัฐเลือกโจมตีตุรกีในยามที่ค่าเงินและเศรษฐกิจตุรกีอ่อนแออยู่แล้ว ซึ่งเกรงว่าปัญหาจะลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ แบบเดียวกับวิกฤตต้มยำกุ้ง

อย่างไรก็ตาม การที่ค่าเงินของตุรกีเปราะบางเช่นนี้ สาเหตุหลักมาจากนโยบายและการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาลตุรกีภายใต้การนำของประธานาธิบดีเรเจป เทย์ยิบ แอร์โดอานเนื่องจากมีการกู้ยืมหนี้ต่างประเทศในรูปดอลลาร์สหรัฐมาก ส่งผลให้มีหนี้สกุลต่างประเทศราว 1.81 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นมากกว่า 50% ของจีดีพี

การกู้เงินต่างประเทศส่งเสริมให้เกิดการบริโภคและการใช้จ่ายที่สูง จนทำให้ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาตุรกีกลายเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในโลก ล่าสุดไตรมาสแรกปีนี้เติบโต 7.22% สูงกว่าจีน ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อก็ทะยานจนคุมไม่อยู่ พุ่งไปที่ 16% หลุดจากกรอบเป้าหมายของธนาคารกลางที่กำหนดไว้ไม่ให้เกิน 5%

ผลพวงจากการกู้ยืมมาก บริโภคมากและใช้จ่ายเกินตัว ทำให้ตุรกีอยู่ในสภาวะ “ขาดดุลแฝด” (twin deficits) คือทั้งขาดดุลงบประมาณและขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งการขาดดุลงบประมาณนั้นหมายถึงรัฐบาลใช้จ่ายมากกว่าที่หามาได้ ส่วนการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดหมายถึงมีการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการมากกว่ารายได้จากการขายสินค้าและบริการ

กรณีของตุรกีทำให้นักลงทุนทั่วโลก เริ่มหันไปจับตาอีกหลายประเทศที่มีปัญหาคล้ายกับตุรกีกล่าวคือ มีการขาดดุล มีหนี้ต่างประเทศมากและเงินเฟ้อสูง ไม่ว่าจะเป็นบราซิล เม็กซิโก อินโดนีเซีย รวมทั้งประเทศในยุโรปอย่างอิตาลี อย่างไรก็ตาม หากเทียบเฉพาะกับประเทศที่มีปัญหา “ขาดดุลแฝด” ด้วยกันอย่างอินโดนีเซียแล้วมีความแตกต่าง โดยอินโดนีเซียมีหนี้ต่างประเทศเพียง 30% ของจีดีพี และมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากเพียงพอที่จะรองรับวิกฤต ขณะที่ตุรกีมีหนี้เกิน 50% และไม่มีทุนสำรองระหว่างประเทศมากพอที่จะเข้าซื้อลีราเพื่อพยุงราคา

นักวิเคราะห์หลายคนเห็นตรงกันว่า ตุรกีจะมาไม่ถึงจุดนี้หากประธานาธิบดีแอร์โดอานปล่อยให้ธนาคารกลางตุรกีทำหน้าที่ของตัวเองอย่างอิสระ หากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยก็จะช่วยบรรเทาปัญหาได้มาก แต่นายแอร์โดอานกลับดื้อรั้นที่จะคงนโยบายดอกเบี้ยต่ำเพื่อส่งเสริมการบริโภค เนื่องจากต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวมาก ๆ จึงทำให้ค่าเงินวิกฤตสะสมมาโดยตลอด

หากตุรกีไม่ใช้วิธีขึ้นดอกเบี้ยก็มีทางเลือกอื่นน้อยมากในการแก้ปัญหา วิธีอื่นที่นำมาใช้ เช่น จำกัดธุรกรรมสวอปเงินตราต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ แต่ไม่ได้ควบคุมการไหลออกของเงินทุน จะแก้ปัญหาได้เพียงเล็กน้อยไม่มีผลอะไรมาก หากจะให้ได้ผลต้องมีการขึ้นดอกเบี้ยด้วย

ผู้เชี่ยวชาญระบุอีกว่า กรณีที่เกินกำลังและต้องพึ่งพากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็ไม่ง่ายนัก เนื่องจากหนี้ต่างประเทศส่วนใหญ่ของตุรกีเป็นหนี้ที่ก่อโดยภาคเอกชนไม่ใช่ภาครัฐ ดังนั้น ไอเอ็มเอฟคงหาเหตุผลที่ชอบธรรมมาช่วยเหลือได้ค่อนข้างยาก

แม้ในวันถัดมาค่าเงินลีราจะฟื้นตัวกลับมา 6% แต่นักลงทุนยังไม่มั่นใจว่าจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืน เพราะปัญหาหยั่งรากลึก ตราบใดที่แอร์โดอานยังไม่อยากขึ้นดอกเบี้ย ตราบนั้นค่าเงินลีราก็จะตกอยู่ใต้แรงกดดัน หากเป็นเช่นนี้ต่อไปก็น่ากลัวว่าบริษัทต่าง ๆ จะล้มละลายและธนาคารพาณิชย์เกิดวิกฤต