“เทสลา” ปรับกลยุทธ์ตั้ง “ซีโอโอ” รับมือความไม่แน่นอน “อีลอน มัสก์”

AFP PHOTO / PETER PARKS

นักลงทุนโล่งใจไปหนึ่งเปลาะหลังจาก “เทสลา” ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา ประกาศแถลงการณ์จากซีอีโอ “อีลอน มัสก์” ผ่านหน้าเว็บไซต์เมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า บริษัทจะยังคงเป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นต่อไป โดยไม่มีแผนซื้อหุ้นคืนแต่อย่างใด หลังจากการประชุมหารือกับบอร์ดบริหาร และที่ปรึกษาการเงินของบริษัท

ถือเป็น 17 วันของการเดินบนเส้นทางเสี่ยงตายอีกครั้งของค่ายรถยนต์แห่งนี้ หลังจากเมื่อ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา “อีลอน มัสก์” ประกาศผ่านทวิตเตอร์ว่า มีแผนจะนำบริษัทออกจากตลาดหุ้น เพราะเหน็ดเหนื่อยกับความกดดันจากสังคมและการทำงานหนัก ส่งผลให้ราคาหุ้นดีดตัวขึ้นสูงกว่า 10% ก่อนร่วงลงในเวลาต่อมา เมื่อมัสก์ประกาศว่าจะซื้อหุ้นคืนที่ราคาหุ้นละ 420 ดอลลาร์สหรัฐ

แน่นอนว่าการนำบริษัทออกจากการเป็นบริษัทมหาชนไม่ใช่เรื่องง่าย และหลายฝ่ายก็ได้ตั้งคำถามว่า มัสก์จะทำได้จริงหรือ เพราะต้องใช้เงินกว่า 72,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเชื่อได้ว่าเทสลาอาจไม่มีเงินทุนมากขนาดนั้น ทั้งยังจะต้องถูกสอบสวนทางกฎหมายอีกมหาศาล

การอยู่ในตลาดหุ้นต่อของเทสลา จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องโล่งใจของนักลงทุนที่อย่างน้อยก็ยังเชื่อมั่นในตัวมัสก์ได้ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญที่จะลืมไปไม่ได้ คือการสร้างความเชื่อมั่น และสร้างทีมบริหารให้มีความน่าเชื่อถือดังเดิม เพราะในระยะหลัง เทสลาดำเนินเส้นทางบนความไม่แน่นอน จากทั้งปัจจัยการผลิต และจากการกระทำของซีอีโอบริษัทเองด้วย

การกระทำของมัสก์ในคราวนี้ นักวิเคราะห์ต่างมองว่า ทำให้เกิดความเสี่ยงของความสัมพันธ์ระหว่างเทสลาและนักลงทุนรายย่อย ซึ่งยังคงตั้งความหวังสูงกับค่ายรถมากที่สุด ซึ่งมัสก์เองให้ความสำคัญนักลงทุนกลุ่มนี้ว่าเป็น “แกนกลาง” ของกลุ่มผู้สนับสนุน

นอกจากนี้ยังสะเทือนถึงภาพลักษณ์ของบริษัท ซึ่งมีการเรียกร้องให้ทางเทสลาแก้ไขและสร้างความรับรู้และความเข้าใจต่อตัวบริษัทให้มีความน่าเชื่อถือเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม เทสลาก็ตระหนักดีถึงความไม่แน่นอนและการใช้ทวิตเตอร์ของมัสก์เช่นกัน แม้ว่าในแถลงการณ์วันศุกร์จะระบุว่า ทางกรรมการบริหารของบริษัทยังคงเชื่อมั่นในความเป็นผู้นำของมัสก์ แต่แหล่งข่าวนิรนามรายหนึ่งได้เผยกับไฟแนนเชียล ไทมส์ว่า บอร์ดบริหารเทสลาเตรียมหาผู้บริหารคนใหม่ที่จะทำงานร่วมกับมัสก์ “อย่างใกล้ชิด” โดยเร่งด่วน เพื่อแบ่งเบาความกดดันจากมัสก์ ซึ่งคนคนนั้นจะมานั่งตำแหน่งซีโอโอ (COO) หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บรรดาผู้ถือหุ้นต่างตอบรับข้อเสนอดังกล่าวในการแต่งตั้งซีโอโอ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ระบบบริหารของเทสลาเป็นไปอย่างมีระเบียบมากขึ้น เช่นก่อนหน้านี้ที่มัสก์แต่งตั้ง

“กวินน์ ช็อตเวลล์” ในฐานะซีอีโอของสเปซเอ็กซ์นักลงทุนรายหนึ่งให้ความเห็นว่า การตั้งซีโอโอที่จะเข้ามากุมบังเหียนการปฏิบัติการ หมายถึงทั้งความเสี่ยงและโอกาส แต่ถ้าไปได้สวยจะดันราคาหุ้นให้ไปสู่อีกระดับได้

ทั้งนี้ พฤติกรรมของมัสก์ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เรียกได้ว่าไม่เป็นที่พึงใจสำหรับนักลงทุนมากนัก แม้ว่าเร็ว ๆ นี้เขาเพิ่งให้สัมภาษณ์สื่อไปว่า เขาทำงานกว่า 120 ชั่วโมง/สัปดาห์ แทบไม่ได้เจอลูกและเพื่อนฝูง และต้องใช้ยานอนหลับ

แต่นักวิเคราะห์มองว่า นี่ไม่ใช่ข้อแก้ตัว “คาล โทไบอัส” โปรเฟสเซอร์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยริชมอนด์ กล่าวเตือนว่า “ภายใต้กฎหมายการกำกับดูแลกิจการ บริษัทมีความรับผิดชอบที่นักลงทุนมอบหมายไว้ ในการทำทุกอย่างเพื่อให้บริษัทมีกำไรและมีชื่อเสียง ซึ่งดูเหมือนว่าเทสลาจะขาดความรับผิดชอบในบางส่วนไป”