“เทรดวอร์” สหรัฐ-จีน ลาม ฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน “ญี่ปุ่น”

ญี่ปุ่น

ในขณะที่นักธุรกิจในญี่ปุ่นส่วนมากยังคงใจเย็นและมองไปยังทิศทางบวกสำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลก แต่เทรดวอร์ระหว่างสหรัฐกับจีนเกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อเริ่มทวีความรุนแรง กระทั่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการลงทุนต่อนักธุรกิจญี่ปุ่น

“นิกเคอิ อาเซียน รีวิว” รายงานผลการสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว จากแบบสำรวจนักธุรกิจจำนวน 144 บริษัท ในไตรมาสล่าสุด พบว่า ร้อยละ 71.5 เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวใน 6 เดือนนี้ โดยคาดว่าอยู่ที่ 7.8 ซึ่งน้อยกว่าผลสำรวจครั้งก่อนเมื่อเดือนมิถุนายน

เทรดวอร์ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่สร้างความกังวลต่อเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 63.2 ของผู้ตอบระบุว่า เทรดวอร์ระหว่างสหรัฐกับจีนมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกด้วย ตามมาที่ร้อยละ 47.2 กังวลเรื่องการแพร่กระจายของมาตรการคุ้มครองการค้า ร้อยละ 45.1 เป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ขณะที่ร้อยละ 33.3 ชี้ถึงปัจจัยความวุ่นวายทางการเมืองของสหรัฐ

บรรดาธุรกิจจีนชะลอการลงทุนใหม่ๆ ภายหลังสหรัฐตั้งกำแพงภาษีอีกครั้งมูลค่ากว่า 2 แสนล้านเมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ผลิตเครื่องจักรญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากออเดอร์จีน ซึ่งหดตัวต่อเนื่อง 6 เดือนตั้งแต่ ส.ค.

ทั้งนี้ ยังไม่มีสัญญาณจุดสิ้นสุดของสงครามการค้าะหว่างสหรัฐกับจีน ร้อยละ 5.6 ระบุว่า จากนี้ถึงเดือนมี.ค. 2019 จะลงทุนน้อยกว่าแผนการลงทุนที่วางไว้

“สงครามการค้าเป็นปัจจัยให้เศรษฐกิจโลกที่กำลังโตอย่างต่อเนื่องเปลี่ยนเป็นหดตัวแทน” ทาเคชิ นิอินามิ ซีอีโอแห่ง “ซันโตรี่ โฮลดิ้ง” บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มสัญชาติญี่ปุ่น

สำหรับสถานการณ์ “เบร็กซิท” หรือการที่สหราชอาณาจักรออกจากกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งผ่านมาเป็นระยะเวลา 6 เดือนนั้นได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนเช่นกัน โดยร้อยละ 7 ของนักธุรกิจระบุว่า มีแผนที่จะย้ายโรงงาน/ ออฟฟิศออกจากสหราชอาณาจักร ร้อยละ 25.7 คาดว่า การเบร็กซิทจะส่งผลให้เกิดความระส่ำระส่ายทั้งในเศรษฐกิจภูมิภาคและตลาดการเงิน ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านลบต่อธูรกิจ

โตโยต้า มอเตอร์ส เผยว่า โรงงานในอังกฤษมักถูกบังคับให้ยุติการผลิตชั่วคราว ซึ่งเป็นผลจากดิสรัปชั่นของซัพพลายเชน

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงความคาดหวังที่ต้องการจาก “ชินโซ อาเบะ” นายกรัฐมนตรีแห่งญี่ปุ่น ร้อยละ 45.8 ระบุว่าต้องการการปฏิรูปที่เข้มข้นจริงจัง ขณะที่ร้อยละ 30.6 ระบุว่าต้องการให้ลดภาษีนิติบุคคล