ส่องอนาคต 2 ทิศทาง ชี้ชะตาราคา “น้ำมันโลก”

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ราคาน้ำมันดิบโลกในช่วงที่ผ่านมาผันผวนหนักมาก ยิ่งระยะหลัง ๆ สะวิงขึ้น-ลง 1-2 ดอลลาร์ จนจับทิศทางยากลำบาก แต่ในภาพรวมจะเห็นได้ว่า เมื่อต้นเดือน ต.ค. ราคาน้ำมันดิบถีบตัวสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี แต่พอถึงต้นเดือน พ.ย. ราคากลับลดลงมามากถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ในช่วงเดียวกันมาตรการแซงก์ชั่นทางการเงินต่ออิหร่านของสหรัฐอเมริกา มีผลบังคับใช้พอดิบพอดี

จากที่เคยพูดกันว่าราคาน้ำมันดิบโลกจะพุ่งขึ้นถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็พลิกผันกลายเป็นการพูดกันถึงภาวะน้ำมันราคาตกถึงระดับต่ำสุดที่ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงเวลาเพียงเดือนเดียว

นักวิเคราะห์ในตลาดน้ำมันดิบตอนนี้ แตกความเห็นกันเป็น 2 ทิศทาง ตรงกันข้ามอย่างชัดเจน ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่า ภาวะร่วงลงมากถึง 15 เปอร์เซ็นต์ในเวลานี้ เป็นเพียงแค่ชั่วขณะเท่านั้น “โกลด์แมน แซกส์”

ฟันธงว่าถึงสิ้นปีนี้ ราคาน้ำมันดิบชนิดเบรนต์จะไต่กลับขึ้นไปอยู่ที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง และจะขยับสูงขึ้นต่อเนื่องในปี 2019

อีกฝ่ายมองไปในทิศทางตรงกันข้าม อย่าง “โอซามา ริซวี” นักวิเคราะห์อิสระ เชื่อว่าตลาดน้ำมันกำลังจะเข้าสู่ภาวะหมี และในช่วงสิ้นปี เบรนต์จะลดลงเหลือเพียง 60 ดอลลาร์ ส่วนดับเบิลยูทีไอจะเหลือเพียง 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ทั้ง 2 ฝ่ายมองปัจจัยเดียวกัน แต่ตีความและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยเหล่านั้นออกมาแตกต่างกัน

โกลด์แมน แซกส์ ชี้ว่า นับตั้งแต่เดือนต.ค. ปริมาณสต๊อกน้ำมันดิบในคลังน้ำมันสำรองทั่วโลก “ลดลง” ในขณะที่การแซงก์ชั่นต่ออิหร่านจะยิ่งส่งผลให้ผลผลิตน้ำมันในตลาดลดน้อยลงไปอีก

แม้จะมีการ “ยกเว้นชั่วคราว” ให้กับ 8 ชาติให้นำเข้าน้ำมันจากอิหร่านต่อไปได้ก็ตาม แต่น้ำมันดิบที่จะออกมาจากอิหร่านจะลดน้อยลงต่อไปเรื่อย ๆ

ในทางตรงกันข้าม ริซวีชี้ว่า ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. ถึง 19 ต.ค. สต๊อกน้ำมันสำรองโลกเพิ่มขึ้นกว่า 28 ล้านบาร์เรล ทำให้โดยรวมพุ่งขึ้นไปอยู่ 422 ล้านบาร์เรล พร้อมยกข้อมูลของรอยเตอร์สมาแสดงให้เห็นว่า องค์การประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (โอเปก) เพิ่มผลผลิตขึ้นสูงกว่า 390,000 บาร์เรลต่อวัน นับตั้งแต่เดือน ก.ย. ทำให้ระดับการผลิตของโอเปกอยู่ในระดับสูงสุด

นับตั้งแต่ปี 2016 ขณะที่สัดส่วนการปฏิบัติตามโควตาของสมาชิกโอเปกลดลงจาก 122 เปอร์เซ็นต์ในเดือน ก.ย. เหลือ 107 เปอร์เซ็นต์ในเดือน ต.ค.

ริซวีมองว่า มาตรการแซงก์ชั่นต่ออิหร่านส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำมันดิบในตลาดก็จริง แต่ “ถึงอย่างไรน้ำมันดิบอิหร่านก็ไม่มีวันหายไปทั้งหมดแน่” เพราะยิ่งสหรัฐเล่นงานประเทศ (หรือบริษัทธุรกิจ) ที่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และจะยิ่งกดดันต่อความต้องการน้ำมันของโลกให้ลดลงอีกด้วย

ปัจจัยที่ทั้ง 2 ฝ่ายมองต่างกันอย่างชัดเจนอีกปัจจัยหนึ่งก็คือ ภาพรวมของทิศทางเศรษฐกิจโลก แม้ทางโกลด์แมน แซกส์ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ “ค่อนข้างลำบากที่จะคาดการณ์” แต่ก็ไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการน้ำมัน โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาลดน้อยลง และทำให้ราคาตกต่ำต่อเนื่อง

โกลด์แมน แซกส์เชื่อว่า การที่ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จีนนำเข้าน้ำมันลดลง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจขาลงของประเทศ ไม่น่าจะสะท้อนถึงความต้องการน้ำมันที่ลดลง แต่เชื่อว่าเป็นการ “ระบายน้ำมันในสต๊อก” ของจีนมากกว่า

โกลด์แมน แซกส์ ไม่ได้พูดถึงผลกระทบจากสงครามการค้า ซึ่งจะส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และเงินสกุลท้องถิ่นอื่น ๆ อ่อนค่าลงโดยตรง แต่ระบุไว้ว่า ค่าเงินดอลลาร์ซึ่งส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบในสกุลเงินท้องถิ่นนั้น จะยังคงเบาบางทั้งในปลายปีนี้เรื่อยไปจนถึงกลางปี 2019

นั่นหมายความว่า ความต้องการน้ำมันจะยังคงไม่ได้รับผลกระทบ และส่งผลให้ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับ 80 ดอลลาร์ต่อไป

ริซวีกลับเชื่อว่า สงครามการค้ามีผลโดยตรงต่อความต้องการน้ำมัน เพราะไม่เชื่อว่าสหรัฐและจีนจะตกลงกันได้ แม้จะนัดเจรจากันในระหว่างการประชุมสุดยอดจี 20 ก็ตาม

ผลก็คือสหรัฐจะแซงก์ชั่นจีนเพิ่มเติม และทำให้ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่จะเกิดการชะลอตัวสูงขึ้นอย่างมากและจะส่งผลต่อความต้องการน้ำมันของโลกโดยตรง ต่อเนื่องไปอย่างน้อยตลอดปีหน้านั่นเอง