ชำแหละ “โครงสร้างพื้นฐานเอเชีย” ADB ชี้ต้องลงทุนเพิ่ม 1 เท่าตัว

“โครงสร้างพื้นฐานที่ดี” คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปัจจุบันภูมิภาค “เอเชีย-แปซิฟิก” ให้ความสำคัญกับการลงทุนและพัฒนาด้านนี้อย่างมาก ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้จัดทำรายงาน “Meeting Asia”s Infrastructure Needs” เป็นการสำรวจว่า ประเทศเอเชียที่กำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทย ต้องการเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจำนวนเท่าไร จากปัจจุบันจนถึงสิ้นปี 2030

โครงสร้างพื้นฐานในความหมาย ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะด้านคมนาคมขนส่ง แต่รวมถึงภาคพลังงาน โทรคมนาคม การประปา และสุขาภิบาลด้วย ซึ่งพบว่าความเหลื่อมล้ำยังมีอยู่ในหลายประเทศ หากเฉลี่ยประชากรทั้งภูมิภาคใน 25 ประเทศ พบว่าประชากรกว่า 400 ล้านคนไม่มีไฟฟ้าใช้ 300 ล้านคนยังเข้าไม่ถึงแหล่งน้ำดื่มสะอาด และ 1,500 ล้านคน ขาดระบบสุขาภิบาลขั้นพื้นฐาน

นอกจากนี้ ตลาดเศรษฐกิจหลายแห่งในเอเชียยังไม่มีท่าเรือ ทางรถไฟ และถนนที่เพียงพอ จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการเชื่อมต่อกับตลาดโลกอื่น ๆ

ดร.รานา ฮันซัน ผู้อำนวยการแผนกการพัฒนาเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจ สำนักวิจัยเศรษฐกิจและความร่วมมือในภูมิภาคของเอดีบี กล่าวว่า ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งหมด 25 ประเทศ ที่ได้ทำการสำรวจ ที่ผ่านมาแม้จะลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น แต่สัดส่วนความต้องการที่ควรพัฒนายังต่ำ หากประเมินตามสภาพของแต่ละประเทศ


ผลศึกษาของเอดีบีระบุว่า เพื่อให้แผนการพัฒนาเศรษฐกิจของ 25 ประเทศบรรลุเป้าหมายจะต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานราว 22.6 ล้านล้านดอลลาร์ (ตั้งแต่ปี 2016-2030) หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี

อย่างไรก็ตาม เอดีบีให้ความสำคัญกับประมาณการที่คำนึงถึงปัจจัยทางสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน ซึ่งประมาณการที่รวมปัจจัยดังกล่าวจะสูงขึ้นเป็น 26 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี

รายงานฉบับนี้ได้วิเคราะห์ถึงสัดส่วนการลงทุนจริงของประเทศเอเชียในปี 2015 และงบประมาณที่ควรลงทุนในระหว่างปี 2016-2020 เพื่อแสดงให้เห็นข้อมูลและง่ายต่อการพิจารณาวาระการพัฒนาประเทศ โดยแบ่งเป็นโซนประเทศดังนี้ “เอเชียกลาง” ในปี 2015 มีการลงทุน 6 พันล้านดอลลาร์ แต่แผนการลงทุนปี 2016-2020 จะอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่เมื่อคำนวณผลจากปัญหาสภาพอากาศจะทำให้ต้นทุนการลงทุนเพิ่มเป็น 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์, “เอเชียใต้” แผนลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า 2.94 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่เมื่อคำนวณผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศ ทำให้ต้องมีการลงทุนเพิ่มเป็น 3.29 หมื่นล้านดอลลาร์

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ช่องว่าง (Gap) ระหว่างการลงทุนในปี 2015 กับประมาณการที่ควรลงทุน หากประเมินตามสภาพของประเทศ ถือว่าต่ำกว่าควรจะเป็น 1 เท่าตัว โดย 25 ประเทศที่สำรวจมีการลงทุนในปี 2015 มูลค่ารวมอยู่ที่ 8.81 แสนล้านดอลลาร์ แต่ตัวเลขที่ควรจะมีการลงทุนจริงสูงถึง 1.21 ล้านล้านดอลลาร์

และเมื่อแยกประเทศที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสูงอย่าง “จีน และอินเดีย” ออกมา จะเห็นว่าการลงทุนที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่เหลือค่อนข้างน้อย เช่น กลุ่มอาเซียน (7 ประเทศ) ปี 2015 มีการลงทุน 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ตัวเลขที่ควรจะมีการลงทุนอยู่ที่ 1.47 แสนล้านดอลลาร์

ขณะที่ประเทศไทย ดร.รานากล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และเปิดกว้างต่อทุนจากภาคเอกชนแต่ก็ยังถือว่า Gap การลงทุนของไทยด้านโครงสร้างพื้นฐานสูงเล็กน้อย

“หากภูมิภาคต้องการรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขจัดปัญหาความยากจน และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การวางแผนด้านการพัฒนาจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (MDB) รวมทั้งเอดีบี ก็ให้การสนับสนุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉลี่ยในเอเชียอยู่ที่ประมาณ 2.5% ของการลงทุนทั้งหมด และหากไม่นับรวมจีนและอินเดีย MDB สัดส่วนการลงทุนสูงขึ้นมากกว่า 10%”

ทั้งนี้ เอดีบีแนะนำว่า การปฏิรูปนโยบายการคลัง เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลบางประเทศต้องปรับปรุง เช่นการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับภาครัฐ รวมถึงเปิดกว้างให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม และที่สำคัญการวางแผนการพัฒนาที่ดีจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น