“ทรัมป์” ปลด “แบนนอน” นโยบายการค้ามะกันซอฟต์ลง ?

รัฐบาลสหรัฐยุคโดนัลด์ ทรัมป์ นับได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลง-ปลดบุคคลในคณะทำงานมากที่สุด เริ่มจากการลาออกของไมเคิล ฟลีนน์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ที่ต้องโบกมือลาจากกรณีอื้อฉาวเรื่องรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐ ปลดโฆษกทำเนียบขาวไป 2 คน

ในเวลาอันสั้น ปลดหัวหน้าคณะทีมทำงานทำเนียบขาว และอื่น ๆ อีกมากจนจำไม่ไหว ยังไม่นับรวมกับการลาออกจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ 2 ชุด ของบรรดาซีอีโอจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐ เพราะไม่พอใจท่าทีของทรัมป์ต่อเหตุการณ์ปะทะร้ายแรงระหว่างกลุ่มชาตินิยมผิวขาวและฝ่ายตรงข้ามที่เมืองชาร์ลอตต์วิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย

ล่าสุด มีการปลด “สตีเฟ่น แบนนอน” ออกจากหัวหน้ายุทธศาสตร์ของทำเนียบขาว ซึ่งกรณีนี้ค่อนข้างได้รับการจับตาอย่างมาก เนื่องจากแบนนอนถือเป็นบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งให้ทรัมป์จนได้รับชัยชนะผ่านจุดยืนและนโยบายที่เน้นชาตินิยม ประชานิยม ลดการขาดดุลการค้าด้วยการหันมากีดกันการค้า การกีดกันผู้อพยพ เป็นต้น

การปลดนายแบนนอน ถูกวิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นการส่งสัญญาณว่าต่อไปนโยบายการค้าของรัฐบาลทรัมป์จะโอนเอียงไปในแนวทางของกลุ่ม “โลกานิยม” และอาจทำให้จุดยืนของทรัมป์ที่มีต่อเป้าหมายหลักอย่างจีนและข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) อ่อนลง

ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและล็อบบี้ยิสต์ระบุว่า แม้แบนนอนจะไม่อยู่แล้วแต่คงต้องใช้เวลาสักพักเพื่อดูว่าในที่สุดแล้วฝ่ายโลกานิยม ไม่ว่าจะเป็น “แกรี คอห์น” ประธานสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ สตีเว่น มนูชิน รัฐมนตรีคลัง และ ซอนนี เพอร์ดิว รัฐมนตรีเกษตร จะเอาชนะเรื่องนโยบายการค้าได้หรือไม่ เพราะยังมี นายปีเตอร์ นาวาร์โร ผู้อำนวยการสำนักงานการค้าและการผลิตทำเนียบขาว พันธมิตรสำคัญของแบนนอนเป็นก้างขวางคออยู่และพร้อมจะขับเคลื่อนผลักดันนโยบายชาตินิยมและกีดกันการค้าต่อไป โดยเฉพาะการเล่นงานจีน ทั้งในประเด็นแทรกแซงค่าเงินหยวน ภาษีเหล็กและอื่น ๆ

Advertisment

ที่ผ่านมา กลุ่มโลกานิยมนำโดยนายคอห์น ประธานสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ พิสูจน์ให้เห็นถึงการมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลมากกว่าด้วยการไม่จัดให้จีนอยู่ในสถานะของประเทศที่มีการแทรกแซงค่าเงิน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รวมทั้งการตัดสินใจที่จะเจรจานาฟต้าใหม่ แทนที่จะยกเลิกไปเลย นอกจากนี้ยังสามารถผลักดันให้ทรัมป์ชะลอการตัดสินใจตั้งกำแพงภาษีเหล็กจากจีนแบบครอบคลุม

มีรายงานด้วยว่า นายแบนนอนยังทำสงครามทางอ้อมมานานหลายเดือนกับ นายจาเร็ด คุชเนอร์ ลูกเขยของทรัมป์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของทรัมป์ โดยคุชเนอร์ อยู่ในกลุ่มที่มีสายสัมพันธ์พวกวอลล์สตรีท มีจุดยืนตรงข้ามกับนายแบนนอน

ทั้งนี้ แนวคิดชาตินิยมหลายอย่างมักจะถูกลบออกไปจากข้อเสนอหลัก ๆ ของทำเนียบขาว เช่น ข้อเสนอที่จะขยับขึ้นอัตราภาษีของกลุ่มคนรวยที่สุดในประเทศก็ถูกบรรดาที่ปรึกษาอาวุโสในทำเนียบขาวยกออกไป

แบนนอน พยายามจะทำหน้าที่ติดตามว่าประธานาธิบดีได้ทำตามสัญญาที่หาเสียงไว้หรือไม่ และพยายามจะผลักดันให้ทรัมป์ไม่ลืมสัญญา โดยในห้องทำงานของแบนนอน จะมีไวท์บอร์ดสำหรับเขียนรายการที่รัฐบาลต้องทำตามที่หาเสียงไว้

Advertisment

สตีฟ คิง สส.ไอโอวา พรรครีพับลิกันซึ่งใกล้ชิดกับแบนนอน ให้ความเห็นว่าการปลดแบนนอนเป็นเหมือนการกวาดล้างฝ่ายอนุรักษนิยมและอาจทำให้ฐานของทรัมป์ตีตัวออกห่าง เพราะเมื่อแบนนอนไม่อยู่แล้วก็คงไม่มีใครนำเอานโยบายของทรัมป์ไปปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์บางคนเชื่อว่า นโยบายการค้าหลัก ๆ ของรัฐบาลทรัมป์คงไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเพราะโดยรวมแล้วคณะผู้บริหารยังเห็นพ้องกันในเรื่องที่ต้องลดขาดดุลการค้า

ดังนั้นจุดยืนที่จะตอบโต้จีนอันเนื่องจากประเด็นการค้าที่ไม่เป็นธรรมจะยังมีอยู่ต่อไป เพราะซีกอนุรักษนิยมยังเหลืออยู่หลายคน โดยนอกเหนือจากนายนาวาร์โรแล้ว ยังมีเคลลีแอนน์ คอนเวย์ ที่ปรึกษา, ริก เดียร์บอร์น รองหัวหน้าทีมงานทำเนียบขาว เป็นต้น