สื่อนอกเซอร์ไพรส์! “พปชร.” ทำดีเกินคาด ชู “อนค.” ใหม่ดาวรุ่งการเมืองไทย

รอยเตอร์

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม บรรดาสื่อต่างประเทศยังคงติดตามผลการเลือกตั้งทั่วไปของไทยอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง และเริ่มมีการตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างการเลือกตั้งและความล่าช้าในการแถลงผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมกันนั้นก็ตีความผลการเลือกตั้งเบื้องต้นที่ปรากฏเบื้องต้นตามไปด้วย โดยชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า พรรคพลังประชารัฐ ที่สนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำได้ดีเกินคาด ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยทำได้ต่ำกว่าที่คาดหมายไว้ นอกจากนั้นยังทึ่งกับความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่และความพ่ายแพ้หนักเกินคาดของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งทั้งหมดนั้นส่อเค้าว่าจะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ใช้เวลานานหลายสัปดาห์ทีเดียว

สำนักข่าวเอพีระบุว่า เมื่อประเมินจากผลการเลือกตั้งเบื้องต้นของกกต. ทำให้มีแนวโน้มที่การจัดตั้งรัฐบาลอาจต้องใช้เวลาต่อรองกันนานหลายสัปดาห์ระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ เพราะไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากชัดเจน ในขณะเดียวกันผลลงเอยของการต่อรองอาจทำให้ได้รัฐบาลผสมที่ไม่มีเสถียรภาพขึ้นมาในราวเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนนี้ ทั้งนี้ นายปีเตอร์ มัมฟอร์ด นักวิเคราะห์ประจำ ยูเรเชียกรุ๊ป บริษัทผู้ให้บริการคำปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเมือง ชี้ว่าแนวโน้มจากผลการเลือกตั้งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มต่อต้านทหารยังไม่ได้รับเสียงสนับสนุนมากพอที่จะกดดันให้ทหารถอนตัวออกจากการเมืองได้ เมื่อรวมเข้ากับกติกาทางการเมืองที่เขียนขึ้นใหม่ ส่งผลให้พล.อ.ประยุทธ์ยังคงอยู่ในจุดที่โดดเด่นที่สุดที่จะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป

อย่างไรก็ตามนายมัมฟอร์ดยังตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ความไม่แน่นอนยังอาจเกิดขึ้นได้หลังการเลือกตั้ง ทั้งในระหว่างการเจรจาต่อรองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม นอกเหนือจากนั้นยังอาจมีการนับคะแนนใหม่, การลงโทษตัดสิทธิ์ผู้ได้รับเลือกตั้ง การเลือกตั้งใหม่ในบางเขต รวมไปถึงความถูกต้องชอบธรรมของการเลือกตั้งครั้งนี้อีกด้วย

ในขณะที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เควิน เฮวิสัน ผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทยจากมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา ในสหรัฐอเมริกา ระบุว่าจุดที่น่าสนใจในตอนนี้คือ พรรคพลังประชารัฐจะดึงกี่พรรคเข้าร่วมรัฐบาล เพราะดูเหมือนว่าเพียงแค่ 2 พรรคก็สามารถจัดตั้งได้แล้ว แต่อาจดึงพรรคการเมืองเข้ามาร่วมมากกว่านั้นเพื่อให้เกิดเสถียรภาพมากขึ้น

รายงานของรอยเตอร์ ชี้ให้เห็นว่า การที่พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งมาน้อยกว่าที่คาดหมายกันไว้ ทำให้ผู้สนับสนุนส่วนหนึ่งผิดหวังและเริ่มแสดงออกผ่านโซเชียลมีเดีย ตั้งข้อสงสัยหลายเงื่อนปมที่ผิดปกติจากการเลือกตั้งครั้งนี้ รวมทั้งวิพากษณ์วิจารณ์ว่าเป็นการเลือกตั้งที่กำหนดผลเข้าข้างทหารไว้ตั้งแต่เริ่มต้น รวมทั้งการที่กกต.ปรับลดสัดส่วนผู้มาใช้สิทธิ์ลงเหลือเพียง 66 เปอร์เซ็นต์ต่ำกว่าที่แถลงในตอนแรกราว 80 เปอร์เซ็นต์มากโดยไม่ได้อธิบายเหตุผลแต่อย่างใด

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์