ทริปยุโรป “สี จิ้นผิง” สานฝัน OBOR หรือกับดักหนี้

โครงการ “เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21” (OBOR) ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยุทธศาสตร์ใหญ่ที่สุดของจีนที่จะเชื่อมโลกการค้าการลงทุน 3 ทวีปครอบคลุมถึง 70 ประเทศ โดยทริปเยือนยุโรป 3 ชาติ “อิตาลี-โมนาโก-ฝรั่งเศส” ของผู้นำจีน นักวิเคราะห์สนใจที่การสร้างสมดุลในความร่วมมือเพื่อไม่ให้ประเทศที่เข้าร่วมตกที่นั่งลำบาก

ไฟแนนท์เชียลไทมส์ รายงานว่า “อิตาลี” เป็นประเทศแรกที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เยือนในทริปยุโรประหว่าง 21-26 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยจีนและอิตาลี ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) “แบบไม่ผูกมัด” ทั้งหมด 29 ฉบับ มูลค่าราว 2,500 ล้านยูโร และตั้งเป้าจะขยายความร่วมมือให้ถึง 20,000 ล้านยูโร

อิตาลีกลายเป็นประเทศแรกใน “กลุ่ม G7” ที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ OBOR มูลค่าโครงการถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ หนึ่งในข้อตกลงจาก 29 ฉบับ คือ การพัฒนา “ท่าเรือ” ซึ่งรัฐบาลอิตาลีจะเปิดรับทุนจีนในท่าเรือทั้ง 4 แห่งสำคัญ ได้แก่ ท่าเรือเจนัว ขนาดใหญ่ที่สุดในอิตาลี, ท่าเรือปาแลร์โม, ท่าเรือตรีเอสเต และท่าเรือราเวนนา

“มิเชเล เจอราซี” รัฐมนตรีการพัฒนาเศรษฐกิจ ยอมรับว่า การลงนามเหล่านี้เป็นทั้งความเสี่ยง และโอกาสสำหรับอิตาลี ซึ่งรัฐบาลจะต้องศึกษาเงื่อนไขให้ดี ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือตรีเอสเต เท่ากับเป็นการเปิดทางให้สินค้าจีนสู่ตลาดอิตาลี และตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ในฐานะเป็นตลาดร่วม

ทีมวิเคราะห์จาก “fDi Markets” ของไฟแนนท์เชียลไทมส์ ระบุว่า อิตาลีเป็นหนึ่งประเทศในกลุ่มยูโรโซน ต่อจาก “กรีซ” ที่มีปัญหา “หนี้สาธารณะ” โดยระหว่างปี 2012-2018 หนี้สาธารณะของอิตาลีเพิ่มขึ้นมาถึง 500,000 ล้านดอลลาร์ และในปี 2018 หนี้สาธารณะแตะอยู่ที่ 2.77 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีถึง 138%

หมายความว่า รัฐบาลอิตาลีมีงบประมาณในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ อย่างจำกัดมาก หากการร่วมมือกับจีนในครั้งนี้รัฐบาลโรมไม่มีเงื่อนไขหรือกติกาที่ชัดเจน รวมไปถึงหากต้องพึ่งพาเงินกู้ยืมจากจีนมากจนเกินไป มีโอกาสที่จะซ้ำรอยเดิมในกรณีของ “คอสโกกรุ๊ป” บริษัทการขนส่งรายใหญ่ของจีนที่เข้ามาเทกโอเวอร์กิจการท่าเรือพิเรอุสของกรีซ เมื่อ 3 ปีก่อน ทั้งยังเคยเกิดขึ้นในปากีสถาน และ สปป.ลาว

ขณะที่ “การ์เล็ตต์ มาร์ควิส” ผู้ช่วยพิเศษของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า ทั้งสหรัฐอเมริกาและอียู กังวลเกี่ยวกับความทะเยอทะยานในการแผ่อิทธิพลของจีนผ่าน OBOR การลงทุนมหาศาลของจีนในธุรกิจท่าเรือ และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เป็นการฉกฉวยผลประโยชน์ ทั้งจะเป็นการสร้างภาระการคลังให้กับประเทศพาร์ตเนอร์ หากไม่สามารถจัดการหนี้ที่กู้ยืมมาจากจีนได้

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีสีได้เดินทางเยือน “โมนาโก” เป็นครั้งแรก แม้ว่าจะประเทศเล็ก ๆ ในยุโรปตะวันตก แต่มีจุดภูมิศาสตร์ที่ดีติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน รายงานของ “DW” สื่อหลักของเยอรมนี ระบุว่า รัฐบาลโมนาโกต้อนรับการลงทุนจากจีนเทียบเท่ากับการลงทุนจากประเทศยุโรป มุ่งพัฒนาร่วมในด้านท่องเที่ยว พลังงานสะอาด และโครงสร้างพื้นฐาน ที่สำคัญคือ เข้าร่วมโครงการ OBOR โดยอนุญาตให้จีนพัฒนาโครงการท่าเรือได้ ส่วน “ฝรั่งเศส” ประเทศสุดท้ายที่ผู้นำจีนเยือนในทริปครั้งนี้ “Le Figaro”

หนังสือพิมพ์ของฝรั่งเศส ระบุว่า ฝรั่งเศสเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 3 ของจีนในทวีปยุโรป รองจากสหราชณาจักร และเยอรมนี รัฐบาลของประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ให้สนใจในโครงการ OBOR ตั้งแต่ปีก่อน โดยกล่าวว่า “โครงการ OBOR จะเป็นโอกาสใหม่ของฝรั่งเศส เป็นไปได้อาจร่วมมือกับจีนในเวลาที่เหมาะสม”

นักวิเคราะห์หลายคนของฝรั่งเศส รวมถึง “Gunther Oettinger” กรรมาธิการด้านงบประมาณของอียูจากเยอรมนี กล่าวว่า ฝรั่งเศสยังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจจากการประท้วงที่กินเวลานานหลายเดือน ความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาคอียูอาจจะช่วยปลดล็อกเศรษฐกิจได้ แต่ต้องให้แน่ใจว่าจะสามารถรักษาอธิปไตย ผลประโยชน์ของตนเอง และชาติสมาชิกร่วมภูมิภาคได้

ทั้งระบุด้วยว่า “จีน” เป็นแค่หนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก และยังมีรัสเซีย สหรัฐ และชาติสมาชิกอียูที่มีศักยภาพ “การสร้างสมดุลระหว่างความร่วมมือกับหลาย ๆ ประเทศจึงสำคัญ การทำธุรกิจกับจีนต้องฉลาด”