สารพัดปัจจัย…ทุบราคาน้ำมันซึมยาว !

ภาวะเศรษฐกิจโลกกำลังกระเตื้องชัดเจนมากขึ้น ดัชนีชี้ภาวะเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรป แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มั่นคงมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะเอเชียได้รับอานิสงส์จากการส่งออกตามไปด้วย

แนวโน้มนี้น่าจะเป็นผลดีต่อราคาน้ำมันดิบโลก เพราะในเวลาเดียวกันกลุ่มประเทศผู้ผลิต ทั้งที่เป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก หรือโอเปก และที่ไม่ใช่สมาชิก ร่วมกันลดกำลังผลิตลง 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อรีดน้ำมันส่วนเกินออกจากตลาดพร้อมกันไปด้วย

นั่นทำให้บรรดานักวิเคราะห์พากันพูดถึงการพุ่งทะลุแนวต้านของราคาน้ำมันดิบโลกกันมาตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม แต่เอาเข้าจริง ราคาน้ำมันดิบยังคงแกว่งตัวอยู่ที่ระดับ 40-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอยู่อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงขณะนี้

เมื่อตรวจสอบอย่างจริงจัง ผู้เชี่ยวชาญพบว่า มีปัจจัยลบมากมายทั้งในส่วนของการผลิตและในส่วนของการบริโภคที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าที่โอเปกคาดหมายเอาไว้

แรกสุดเป็นข้อมูลที่เปิดเผยออกมาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ระบุไว้ในรายงานการประเมินตลาดพลังงาน ประจำเดือนกรกฎาคมว่า ระดับความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตของสมาชิกโอเปก ที่เคยอยู่ในระดับ “เกินกว่า 100%” ก่อนหน้านั้น ลดลงมาอยู่ที่เพียง 75% เท่านั้น ถือเป็นระดับการทำตามความตกลงที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการตกลงลดกำลังการผลิตกันมา

อาจเป็นเพราะประเทศสมาชิกมั่นใจมากขึ้นว่า ขาขึ้นของราคาน้ำมันกำลังมาถึงและสามารถคงอยู่ต่อไปได้ไม่ว่าจะมีการปรับลดการผลิตหรือไม่ก็ตาม ผลก็คือ แอลจีเรีย, อิรัก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เริ่มไม่ทำตามความตกลงที่ให้กันไว้ ในเวลาเดียวกับที่สมาชิกที่ได้รับการยกเว้นอย่าง “ลิเบีย” ก็ผลิตและส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้นสูงมาก

ปัจจัยสำคัญถัดมา ข้อมูลจากสำนักงานข้อมูลพลังงาน (อีไอเอ) แห่งสหรัฐอเมริกาล่าสุด แสดงให้เห็นว่า ผลผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันแบบสบาย ๆ ทำให้สหรัฐอเมริกาส่งน้ำมันออกไปยังหลาย ๆ ประเทศมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน

ที่สำคัญคือ อีไอเอระบุว่า แหล่งผลิตอย่างอีเกิล ฟอร์ด และบัคเคน คาดว่าจะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกในเดือนกันยายน เป็น 1.39 ล้านบาร์เรลต่อวันสำหรับแหล่งแรก และ 1.05 ล้านบาร์เรลต่อวันสำหรับแหล่งบัคเคน ขณะที่แหล่งผลิตในเขตแอนาดาร์โก ซึ่งรวมแหล่งน้ำมันใน 24 เคาน์ตีในรัฐโอกลาโฮมาและอีก 5 เคาน์ตีในรัฐเทกซัส กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นถึง 459,000 บาร์เรลต่อวัน

ในส่วนของประเทศผู้บริโภคน้ำมัน ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ในบรรดา 5 ชาติผู้บริโภคสำคัญที่สุด มีเพียง “อินเดีย” เท่านั้น ที่ซื้อน้ำมันจากตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น แต่อีกเช่นกัน อินเดียกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อน้ำมันจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับโอเปกและน็อนโอเปกแต่อย่างใด

สหรัฐซึ่งเคยเป็นผู้บริโภครายใหญ่ ตอนนี้กลับหันหลังให้กับตลาดน้ำมันโลกโดยสิ้นเชิง และด้วยกำลังการผลิตภายในประเทศเพิ่มสูงถึงระดับนี้ คงไม่ต้องพึ่งพาตลาดไปอีกนาน อีก 2 ชาติที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้บริโภคน้ำมัน “บิ๊กไฟฟ์” อย่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ก็ลดการนำเข้าลงเช่นเดียวกัน

นั่นทำให้จีนกลายเป็นผู้บริโภคสำคัญที่หลงเหลืออยู่อีกเพียงรายเดียว ปัญหาก็คือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพิ่งชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจจีนที่เคยขยายตัวในระดับ 10% ต่อปีในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ลดความร้อนแรงลงเหลือเพียง 6.7% เมื่อปี 2016 และคาดว่าจะโตเฉลี่ยเพียงปีละ 6.8% เท่านั้นจนถึงปี 2020

ขณะที่นักวิเคราะห์ทั่วไปเก็งกันว่า “โอเปก” ไม่น่าจะขยายเวลาลดกำลังการผลิตออกไปให้นานเกินกว่าเดือนมีนาคมปี 2018 นี้อีกแล้ว ปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นเมื่อรวม ๆ กันเข้า สุดท้ายแล้วก็ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก มีแต่ทรงกับทรุดอยู่อีกต่อไป

ในสหรัฐอเมริกาเริ่มมีการเก็งกันแล้วว่าราคาน้ำมันดิบจะยังคงอยู่ที่ระดับแค่ 48-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลไปอีกนาน ไม่ใช่แค่เพียงปีนี้หรือปีหน้า แต่ยาวไปจนถึงปี 2021 เลยทีเดียว