เมื่อ “ยุโรปรีเซสชั่น” ส่อกระทบจีนแรงกว่า “สงครามการค้า”

ยังไม่ฟื้นไข้อย่างสมบูรณ์นับตั้งแต่วิกฤตหนี้กรีซเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ก็ถึงคราวที่ยุโรปกำลังถูกจับตามองอีกรอบอย่างหวั่นใจว่าจะกลับไปสู่ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (รีเซสชั่น) อีกหรือไม่ เนื่องจากมีหลายปัจจัยรุมเร้าค่อนข้างหนัก กระทั่งธนาคารกลางสหภาพยุโรป (อีซีบี) ต้องเลื่อนแผนที่จะใช้นโยบายการเงินแบบปกติ และยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป เพราะเกรงว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงแรง ขณะเดียวกัน ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของยูโรโซนปีนี้ลงจาก 1.8% เหลือ 1.1%

โมฮัมเหม็ด เอล-เอเรียน หัวหน้าที่ปรึกษาเศรษฐกิจของอัลลิอันซ์ กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาการเงินใหญ่อันดับ 3 ของโลกให้ความเห็นว่า มีโอกาสประมาณ 50-60% ที่เศรษฐกิจของยุโรปจะถดถอยในช่วงปลายปีนี้หรือไม่ก็ต้นปีหน้า เพราะเผชิญหลายปัญหาพร้อมกัน ทั้งกรณีเบร็กซิต การเปลี่ยนแปลงผู้นำครั้งใหญ่ในการเมืองเยอรมนี การประท้วงที่ยาวนานในฝรั่งเศส ตลอดจนรัฐบาลใหม่อิตาลีที่ดำเนินนโยบายแตกแถวออกจากยุโรป

หัวหน้าที่ปรึกษาเศรษฐกิจของอัลลิอันซ์ฯบอกว่า ไม่เห็นด้วยกับ มาริโอ ดรากี ประธานอีซีบีที่ประเมินว่า ในระยะสั้นมีโอกาส “ต่ำ” ที่เศรษฐกิจยูโรโซนจะถดถอย เพราะในมุมมองของตนเมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจเติบโตเพียง 1% หรือต่ำกว่านี้ย่อมหมายถึงว่ามีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเกิดสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “ความเร็วติดหล่ม” ซึ่งหมายถึงว่าแม้เรากำลังพยายามเคลื่อนที่ไปข้างหน้า แต่ก็ไม่สามารถไปได้เร็วเพียงพอ ด้วยเหตุนั้นจึงสูญเสียระดับความสูง (altitude)

หากเศรษฐกิจยุโรปถดถอยก็จะสร้างความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจจีน อันอาจส่งผลกระทบต่อจีนมากกว่าสงครามการค้ากับสหรัฐก็เป็นได้ เพราะยุโรปเป็นคู่ค้าใหญ่สุดของจีน แม้ว่าจีนได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายอย่างรับมือนับจากเกิดสงครามการค้ากับสหรัฐก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังต้องรอดูว่ามาตรการกระตุ้นระยะสั้นจะค้ำจุนเศรษฐกิจได้นานแค่ไหน และจะสร้างสมดุลกับการปฏิรูประยะยาวที่จำเป็นได้หรือไม่

แม้ว่าจีนจะตระหนักถึงความจำเป็นในการปฏิรูป แต่ก็เร็วไปที่จะพูดว่าพวกเขาจะดำเนินการขั้นตอนที่จำเป็นต่าง ๆ เพราะจีนก็เป็นเช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศที่ต้องมีการชั่งใจแลกเปลี่ยนระหว่างมาตรการกระตุ้นระยะสั้นกับการปฏิรูประยะยาว เพราะการปฏิรูปเกี่ยวพันกับการปรับโครงสร้างที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล แต่ที่เห็นแน่ ๆ อย่างรวดเร็วคือต้นทุนที่ต้องจ่ายไป

“เศรษฐกิจจีนเปรียบเหมือนเครื่องบิน เจ้าหน้าที่พยายามเปลี่ยนเครื่องยนต์เก่าที่อ่อนล้าหมดแรงไปเป็นเครื่องยนต์ใหม่กลางอากาศ หากไม่มีลมหาง (ซึ่งก็คือเศรษฐกิจโลก) ที่แรงเพียงพอในการผลักดันไปข้างหน้า แถมลมหางดันกลายมาเป็นลมต้าน คุณก็ลังเลที่จะดับเครื่องยนต์เก่า ดังนั้น ความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนจึงขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกที่ดีในอนาคต” โมฮัมเหม็ดกล่าว

ความกังวลต่อการชะลอตัวแรงของเศรษฐกิจยุโรป กระทั่งทำให้อีซีบีเลื่อนการใช้นโยบายการเงินปกติ โดยเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงปีหน้า พร้อมกับอัดฉีดสภาพคล่องให้กับธนาคารมากขึ้น สร้างความวิตกว่าในที่สุดแล้วอีซีบีก็จะเดินรอยตามธนาคารกลางญี่ปุ่น จนทำให้เกิดภาวะที่อัตราเติบโตต่ำมาก เงินฝืด และสิ่งต่าง ๆ เลวร้ายลงเรื่อย ๆ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยต่ำใกล้ศูนย์ นโยบายลักษณะนี้เคยทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะงักงันเป็นเวลานานติดต่อกันร่วม 20 ปี หรือที่เรียกว่า lost decade ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากฟองสบู่สินทรัพย์แตก

ทั้งนี้ นับจากวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี ค.ศ. 2008 อัตราดอกเบี้ยทั้งในยูโรโซนและญี่ปุ่นไม่เคยปรับขึ้นเลย ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นไปแล้ว 9 ครั้ง ก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็นจีได้ออกมาเตือนว่า ยูโรโซนเริ่มจะคล้ายกับญี่ปุ่น คือ อัตราเติบโตต่ำ เงินเฟ้อต่ำ และใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากเกินไป