เฮือกสุดท้าย “เทเรซา เมย์” “พรรคเบร็กซิต” มาแรง

Britain's Prime Minister Theresa May leaves after a news conference following an extraordinary EU leaders summit to finalise and formalise the Brexit agreement in Brussels, Belgium November 25, 2018. REUTERS/Dylan Martinez

การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือ “เบร็กซิต” ที่ยืดเยื้อมาเกือบ 3 ปี สั่นคลอนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ “เทเรซา เมย์” เพราะไม่สามารถหาข้อตกลงที่ทุกฝ่ายยอมรับได้

ทำให้ “เมย์” ต้องพยายามอย่างหนักที่จะผลักดันเบร็กซิตเกิดขึ้นได้จริงโดยไม่กระทบต่อตำแหน่ง ขณะที่หลายคนเริ่มมองหาผู้นำใหม่ที่จะช่วยให้เบร็กซิตบรรลุผลวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา “บีบีซี” รายงานว่า โฆษกรัฐบาลอังกฤษเผยว่า “เทเรซา เมย์” เตรียมนำร่างข้อตกลงเบร็กซิตเข้าสู่สภาอีกครั้ง ซึ่งจะเริ่มอภิปรายในวันที่ 3 มิ.ย. 2019 เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเดินทางเยือนประเทศอังกฤษ

รัฐบาลให้เหตุผลว่าต้องเร่งหาข้อยุติเรื่องนี้โดยเร็ว ก่อนถึงช่วงการพักร้อนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะทำให้การออกจากสมาชิกอียูแบบมีข้อตกลง เกิดขึ้นได้ทันก่อนวันที่ 31 ต.ค. 2019

เกิดขึ้นหลังจากที่การเจรจาของเมย์ กับ “เจเรมี คอร์บิน” หัวหน้าพรรคเลเบอร์ เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ไร้ซึ่งข้อสรุป ขณะที่พรรคเลเบอร์ ยืนยันจะไม่ออกเสียงรับรองข้อตกลงเด็ดขาด ถ้าไม่บรรลุข้อตกลงร่วมกัน 2 พรรค

ทั้งนี้ โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า ถ้าการออกเสียงของสภาผู้แทนราษฎรในช่วงต้นเดือน มิ.ย.นี้ ไม่รับรองข้อตกลงเบร็กซิตได้อีกครั้ง อังกฤษอาจต้องออกจากอียูโดยไร้ข้อตกลง หรือไม่มีการออกจากการเป็นสมาชิกอียูเลยก็ได้

“ไนเจล ดอดส์” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคเดโมเครติก ยูเนียนนิสต์ (DUP) ชี้ว่า ถ้านายกฯเมย์ไม่สามารถชี้หนทางใหม่ในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะเรื่องพรมแดนไอร์แลนด์ ก็เป็นไปได้สูงที่ข้อตกลงจะไม่ได้รับการรับรองจากสภาอีกครั้ง

ขณะที่ จอห์น เพียนนาร์ รองบรรณาธิการข่าวการเมืองของ “บีบีซี” วิเคราะห์ว่า ครั้งนี้อาจเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายของเมย์ ในการรักษาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงแห่งอังกฤษ เพราะมีโอกาสสูงมากที่จะไม่ประสบความสำเร็จในการเสนอต่อสภา

“เมย์” เผชิญกับแรงกดดันทั้งจากการเจรจาที่ไร้ข้อสรุปกับหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านแล้ว ยังเผชิญกับแรงกดดันภายในพรรคคอนเซอร์เวทีฟ จากสมาชิกอาวุโสระดับสูงที่ต้องการให้กำหนดกรอบเวลาในการลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ล่าสุด “ยูกอฟโพลล์” ชี้ว่าคะแนนนิยมพรรคคอนเซอร์เวทีฟเหลือเพียง 10% รั้งอันดับ 5 ในพรรคการเมืองทั้งหมด ส่วนพรรคเลเบอร์ได้รับคะแนนนิยม 16% อยู่ในอันดับที่ 2 ส่วนพรรคที่มาแรงอันดับ 1 กลับเป็นพรรคน้องใหม่อย่าง “พรรคเบร็กซิต” ที่ได้รับคะแนนนิยมสูงถึง 34%

ที่น่าสนใจคือ พรรคนี้เพิ่งก่อตั้งได้เพียง 3 เดือน โดย “ไนเจล ฟาราจ” หัวหน้าพรรค และสมาชิกพรรคอีก 13 คน บีบีซี ชี้ว่าแนวทางของพรรคสนับสนุนเบร็กซิตแบบมีข้อตกลง ยิ่งในช่วงการเลือกสมาชิกรัฐสภายุโรปวันที่ 23 พ.ค.นี้ ชาวอังกฤษต่างตั้งความหวังว่าพรรคนี้จะช่วยเข้าไปผลักดันกระบวนการถอนตัวให้ราบรื่นยิ่งขึ้น

คะแนนนิยมที่นำโด่งของ “พรรคเบร็กซิต” ประกอบกับแรงกดดันรอบด้านของ “เมย์” ทำให้อนาคตของนายกฯเมย์ยิ่งดูมืดมน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาดูต่อไปว่า นายกฯหญิงจะสามารถโน้มน้าวสมาชิกสภาให้เห็นชอบกับข้อตกลงได้หรือไม่ แต่ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ความวุ่นวายของเบร็กซิตก็ยังไม่มีวี่แววจะสิ้นสุดลง
โดยง่าย