ปฏิรูป “แชโบล” บททดสอบสำคัญของ “มุน แจอิน”

การเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ “มุน แจอิน” อาจกล่าวว่า ได้สร้างความสงบให้แก่เกาหลีใต้ และความพึงพอใจแก่คนส่วนมากในประเทศ ภายหลังจากข่าวฉาวที่เกิดขึ้นของประธานาธิบดีหญิงคนก่อน “ปาร์ก กึนเฮ” ซึ่งพัวพันในคดีทุจริตรับสินบน และให้เพื่อนสนิทเข้ามาช่วยบริหารประเทศ ส่งผลให้เธอถูกดำเนินคดีและนอนคุกมาจนถึงทุกวันนี้

แม้ว่าอนาคตของเกาหลีใต้จะดูแจ่มใสเท่าที่ตาเห็น แต่ลึก ๆ แล้วประเทศไฮเทคโนโลยีแห่งนี้ยังมีปัญหาฝังลึกอยู่ก้อนใหญ่ เรื่องของกลุ่ม  “แชโบล” บริษัทขนาดใหญ่ที่บริหารงานโดยครอบครัว ที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของโสมขาว

ตั้งแต่ราวปี 1961 รัฐบาลเผด็จการ “ปาร์ก จุงฮี” บิดาของปาร์ก กึนเฮ ขึ้นครองอำนาจ เขาบริหารประเทศจนเศรษฐกิจรุ่งเรือง และเอื้อมาตรการต่าง ๆ ให้แก่บริษัทในเกาหลีใต้ ทำให้กลุ่มบริษัทแชโบลได้เรืองอำนาจ กลายเป็นลมหายใจของประเทศซึ่งพึ่งพาการผลิตอุตสาหกรรมหนักและส่งออก

แชโบลก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเกาหลีใต้ ไม่เพียงแต่ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่อิทธิพลแผ่ขยายไปถึงด้านการเมืองและสังคมโสมขาวอย่างหมดสิ้น ชาวเกาหลีใต้ใช้ชีวิตประจำวันเช้าจรดเย็นด้วยสินค้าและบริการจากกลุ่มแชโบลต่าง ๆ อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะโรงพยาบาล โรงเรียน อพาร์ตเมนต์ ร้านอาหาร มือถือ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ และแน่นอนว่า กลุ่มแชโบลทั้งหลายมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับรัฐ และมีอำนาจแม้กระทั่งการกำหนดอนาคตประเทศ

บทบาทที่ดูจะล้ำเส้นไป ทำให้ชาวเกาหลีใต้ รวมถึงต่างชาติเริ่มออกเสียงวิพากษ์แชโบลถึงความถูกต้อง โปร่งใส ผลประโยชน์ทับซ้อน การผูกขาดตลาด ตลอดจนความเป็นประชาธิปไตย แม้ว่าภายหลังปี 1990 รัฐบาลเกาหลีใต้สัญญาว่า จะดูแลไม่ให้แชโบลออกนอกกรอบกฎหมาย ทั้งการคอร์รัปชั่น ติดสินบน เลี่ยงภาษี

อย่างไรก็ตาม ก็ดูว่าปัญหาดังกล่าวจะสางให้จบไปไม่ได้ เพราะเกือบ 30 ปีให้หลัง “ลี แจยอง” บอสเงาแห่งอาณาจักร “ซัมซุง” แชโบลยักษ์ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ ได้ถูกตัดสินโทษจำคุก 5 ปี ฐานติดสินบน “ปาร์ก กึนเฮ” เพื่อให้รัฐเอื้อประโยชน์ในการบริหารซัมซุงให้ง่ายขึ้น

ข่าวฉาวสินบนที่ปูดขึ้นมา สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนทั่วดินแดนโสมขาว ปลุกกระแสเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปแชโบล” ใหม่ขึ้นมากระแสดังกล่าว ป็นสิ่งที่ มุน แจอิน จะต้องแบกรับและสะสาง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นใหม่อีกครั้งให้แก่ประชาชน

บรรณาธิการ ไฟแนนเชียล ไทม์ส เขียนบทวิเคราะห์ถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า สิ่งแรกที่ต้องทำในการปฏิรูปกลุ่มแชโบล คือ ต้องปรับโครงสร้างการถือหุ้นไขว้ของบริษัท (cross-shareholdings) เพราะทำให้บริษัทเหล่านี้เกาะกลุ่มธุรกิจกันอย่างเหนียวแน่น

และอีกข้อหนึ่ง คือ มุน แจอิน จะต้องไม่อภัยโทษให้แก่ “ลี แจยอง” เหมือนกับที่ประธานาธิบดี “ลี มยองบัก” เคยอภัยโทษให้แก่ “ลี กุนฮี” ประธานบริษัทซัมซุง-บิดาของลี แจยอง หลังจากลี กุนฮี ถูกตัดสินโทษจำคุกกรณีติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ คล้าย ๆ กันกับที่เกิดขึ้นกับลูกชาย

อย่างไรก็ตาม “มุน แจอิน” ได้ออกมายืนยันว่า เขาจะไม่อภัยโทษให้แก่กรณีของลี แจยอง ขณะที่ประธานาธิบดีคนปัจจุบันก็ต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันมหาศาล อันเนื่องมาจากอิทธิพลของกลุ่มแชโบล บทวิเคราะห์ชี้ว่า ประชาธิปไตยเกาหลีใต้ผ่านมรสุมลูกแล้วลูกเล่า จากการที่แชโบลเข้ามาล่วงล้ำอำนาจรัฐ แม้จะจับได้ แต่ก็ไม่มีใครหลาบจำ ยังคงเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก การเดินหน้าประเทศไม่เพียงแต่เรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมถึงการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐ และกลุ่มแชโบลด้วย

ดังนั้น หากมุน แจอิน ผิดสัญญาก็หมายความว่า ความสำเร็จของประเทศเกาหลีใต้ด้านต่าง ๆ ตลอด 50 ปีที่ผ่านมานั้นแขวนอยู่บนเส้นด้าย และรัฐไม่สามารถแยกตัวเองออกจากอำนาจทุนนิยมได้ นี่จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่มุน แจอิน จะต้องพิสูจน์ความตั้งใจและความสัตย์จริงของตัวเอง ว่าหนักแน่นเพียงไหน

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่า แม้บอสใหญ่ของซัมซุงอย่าง “ลี แจยอง” จะถูกควบคุมตัวภายในเรือนจำ แต่ดูเหมือนว่าซัมซุงจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากจากข่าวฉาวนี้

โดยล่าสุดซัมซุงเพิ่งเปิดรายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ผ่านมาระบุว่า บริษัทได้กำไรสูงสุดในประวัติการณ์ที่ 11 ล้านล้านวอน และการเปิดตัวสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นใหม่ กาแล็กซี โน้ต 8 ก็ดูจะได้รับผลตอบรับในด้านบวก นี่ก็อาจจะเป็นความจริงข้อหนึ่งว่า บรรดาบริษัทแชโบลนั้นแข็งแกร่ง และใหญ่โตเกินกว่าที่จะ “ล้ม” ลงแล้วก็เป็นได้