“เมย์” ยอมแพ้ “เบร็กซิต” เปิดทาง “นายกฯคนใหม่” ชี้ชะตา

Britain's Prime Minister Theresa May leaves after a news conference following an extraordinary EU leaders summit to finalise and formalise the Brexit agreement in Brussels, Belgium November 25, 2018. REUTERS/Dylan Martinez

ความพยายามถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ หรือ “เบร็กซิต” มาถึงทางตันอีกครั้งจากการที่นายกรัฐมนตรี “เทเรซา เมย์” พยายามนำร่างข้อตกลงเบร็กซิตเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งที่ 4 และไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกับพรรคเลเบอร์ได้

ความล้มเหลวหลายครั้งทำให้ “เมย์” ต้องเผชิญแรงกดดันจากสมาชิกภายในพรรค ส่งผลให้ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา

ถ้อยแถลงสุดท้ายของเธอได้กำหนดกรอบเวลาการลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ โดยเธอจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนกระบวนการเลือกหัวหน้าพรรครัฐบาลเริ่มจากการเสนอชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคภายในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน มิ.ย. ซึ่งจะมีการคัดเลือกโดยสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เหลือชื่อผู้เข้าชิงเพียง 2 คน ภายใน 30 มิ.ย. 2019

จากนั้นจะมีการเปิดลงคะแนนโดยสมาชิกพรรคทั่วประเทศ คาดว่าจะมีการประกาศชื่อผู้ที่ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายในสิ้นเดือน ก.ค.นี้

รายงานของ “บีบีซี” เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ระบุว่า ขณะนี้มีผู้ประกาศลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแล้ว 8 คน จากการสำรวจความคิดเห็นของสมาชิกพรรค 1,128 คน โดยเว็บไซต์ “conservativehome” พบว่า บอริส จอห์นสัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ มีคะแนนนำถึง 32.36% ส่วนโดมินิก ราบบ์ อดีตรัฐมนตรีการถอนตัวออกจากอียู มีคะแนนอันดับสอง 14.72% และตามด้วยไมเคิล โกฟ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม ที่มีคะแนนนิยม 8.42% ซึ่งตัวเต็งทั้ง 3 ถือว่ามีจุดยืนต่อการเบร็กซิตแบบไร้ข้อตกลงหรือ “โนดีล”

“จอห์น แมคโดนัลล์” นายกรัฐมนตรีเงาจากพรรคเลเบอร์ระบุว่า หากผู้นำคนใหม่มีแนวทางแบบโนดีล พรรคฝ่ายค้านจะสนับสนุนให้ทำประชามติใหม่เพื่อหลีกเลี่ยง “ข้อตกลงที่แย่” หรือ “ไม่มีข้อตกลง”

นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมาปรากฏว่า “พรรคเบร็กซิต” ซึ่งสนับสนุนการถอนตัวออกจากอียูอย่างมีข้อตกลง ได้รับคะแนนเสียงอันดับหนึ่ง 28 ที่นั่ง จากทั้งหมด 64 ที่นั่งในรัฐสภายุโรป ขณะที่พรรคที่ต่อต้านเบร็กซิตได้แก่ พรรคลิเบอรัล เดโมแครต (ลิบเดม)ได้ 15 ที่นั่ง และพรรคกรีน 7 ที่นั่ง สำหรับพรรคเลเบอร์และคอนเซอร์เวทีฟได้เพียง 10 ที่นั่ง และ 3 ที่นั่งตามลำดับจะเห็นว่ากระแสสนับสนุนและต่อต้านการเบร็กซิตของชาวอังกฤษมีคะแนนสูสีกัน

เซอร์จอห์น คอร์ติซ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้งจากมหาวิทยาลัยสแตรทไคลด์ในสกอตแลนด์ ระบุว่า ผลการเลือกตั้งแสดงให้เห็นว่าการเมืองได้แบ่งออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะต้องเผชิญกับการต่อสู้อย่างดุเดือดระหว่าง 2 ขั้วและการเบร็กซิตแบบโนดีลหรือคงความเป็นสมาชิกอียูเช่นเดิม ดูว่าจะมีความเป็นได้สูงกว่าเบร็กซิตแบบมีข้อตกลง แต่ยังคงต้องจับตากันต่อไปว่าเบร็กซิตจะบรรลุผลอย่างใดอย่างหนึ่งได้ทันตามกำหนด 31 ต.ค.นี้หรือไม่