“เน็ตฟลิกซ์” บุกอาหรับ ชิงเค้ก “สตรีมมิ่ง”

ธุรกิจบริการ “สตรีมมิ่ง” ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ขณะที่อีกฝั่งซีกโลกอย่าง “ตะวันออกกลาง” แม้จะมีความเป็น “ชาตินิยม” สุดโต่ง แต่ด้วยความ “มั่งคั่ง” จึงกลายเป็นตลาดสตรีมมิ่งที่หอมหวานดึงดูดผู้ให้บริการหลายราย รวมถึง “เน็ตฟลิกซ์”

งานวิจัยโดย “Grand View Research” บริษัทให้คำปรึกษาและวิจัยร่วมของอินเดียกับสหรัฐคาดว่า ธุรกิจออนไลน์สตรีมมิ่งในปี 2019 จะแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้น ต้นปีที่ผ่านมามี 3 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง “เน็ตฟลิกซ์-แอปเปิล-ดิสนีย์พลัส” (Netflix-Apple-Disney+) ประกาศเป้าหมายบุกธุรกิจ “ออนไลน์สตรีมมิ่ง” อย่างเต็มตัวเพื่อชิงเค้กในตลาดโลก

นักวิเคราะห์ประเมินว่า ขนาดของตลาดออนไลน์สตรีมมิ่งทั่วโลกน่าจะมีมูลค่าสูงถึง 124,570 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025 โดยตลาดใหม่ที่กำลังเป็นที่หมายตาของผู้ให้บริการ ได้แก่ ตลาดเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จากปัจจัยด้านการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และจำนวนประชากรที่มีขนาดใหญ่ของโลก

ทั้งนี้ “เอเอฟพี” รายงานอ้างข้อมูลของบริษัทวิจัย Frost & Sullivan ในสหรัฐ โดย “มูกุล กฤษณะ” (Mukul Krishna) หัวหน้าฝ่ายสื่อดิจิทัล มองแนวโน้มตลาดธุรกิจสตรีมมิ่งในประเทศ “ตะวันออกกลาง” ว่ากำลังเป็นที่หมายตาทั้งจากบริษัทท้องถิ่นและข้ามชาติ เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงทิศทางของรัฐบาลหลายประเทศที่เปิดกว้างมากขึ้น เช่น “ซาอุดีอาระเบีย” ที่ให้ความสำคัญกับการก้าวทันโลก และความเท่าเทียมทางเพศ ทั้งยังลดการปิดกั้นทางศาสนามากขึ้นด้วย

“โลกอาหรับในปัจจุบันไม่ต่างอะไรกับอาเซียนเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งธุรกิจสตรีมมิ่งเริ่มเข้ามามีบทบาท เพราะจำนวนประชากรที่ดึงดูด รวมถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมทั่วประเทศ”

ทั้งนี้ ข้อมูลของ Frost & Sullivan ซึ่งเปิดเผยเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า ในปัจจุบันชาวตะวันออกกลางประมาณ 85-90% ยังเลือกดูโทรทัศน์มากกว่า ส่วนผู้ชมสตรีมมิ่งออนไลน์มี 25-30% เท่านั้น แต่คาดว่าในปี 2020 จะมีมากขึ้น 40-45% และเพิ่มเป็นมากกว่า 50% ในปี 2022อิทธิพลของออนไลน์สตรีมมิ่งที่เพิ่มขึ้น

ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดตลาดให้มีการแข่งขันมากขึ้น และล่าสุด “เน็ตฟลิกซ์” บริษัทสตรีมมิ่ง ภาพยนตร์และซีรีส์ยักษ์ใหญ่ของอเมริกา เตรียมปล่อยผลงาน “ภาษาอาหรับ” เรื่องแรกในวันที่ 13 มิ.ย. คือเรื่อง “จินน์” (Jinn) ซึ่งสร้างมาจากนิทานปรัมปราของตะวันออกกลาง

“อาทังซ์ ซาวาส” ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารของเน็ตฟลิกซ์ ประจำภูมิภาคตะวันออกกลาง ตุรกี และแอฟริกา กล่าวว่า ในทุก ๆ ปีช่วง “เดือนรอมฎอน”

ถือเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจสตรีมมิ่ง เพราะเป็นเทศกาลที่แต่ละครอบครัวจะใช้เวลาร่วมกันหลังพระอาทิตย์ตกดิน และรับประทานอาหารร่วมกันก่อนพระอาทิตย์ขึ้น นอกจากนี้ เน็ตฟลิกซ์ยังเตรียมปล่อยละครภาษาอาหรับทั้งหมด 4 เรื่อง โดยจะเลือกวันและเวลาออกอากาศที่สามารถเข้าถึงผู้ใช้ชาวอาหรับได้ง่าย เป็นการหาโอกาสจากผังรายการทีวีแบบดั้งเดิมที่ออกอากาศในเวลาตายตัว

ในฝั่งของเจ้าตลาดตะวันออกกลางอย่าง “สตาร์ซเพลย์” (Starz Play) ผู้ให้บริการออนไลน์สตรีมมิ่งจากดูไบ ซึ่งเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาเพิ่งประกาศความสำเร็จจากการที่มีผู้ใช้บริการครบ 1 ล้านคน โดยครองใจผู้ใช้บริการได้ด้วยคอนเทนต์ที่หลากหลาย

“มาอัซ เชก” ซีอีโอของสตาร์ซเพลย์ กล่าวว่า “คู่แข่งที่น่ากลัวของบริษัทไม่ใช่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่เป็นทีวีแบบดั้งเดิมที่ยังครองใจชาวอาหรับมานาน”

อีกทั้ง MBC Group สถานีโทรทัศน์ของซาอุดีอาระเบียที่ประกาศว่า จะผลิตผลงานเองและเตรียมซื้อคอนเทนต์ต่างแดนเพิ่มความหลากหลาย เสริมบริการสตรีมมิ่งสำหรับ “ชาฮิด” (Shahid) และ “ชาฮิดพลัส” (Shahid Plus) คาดหวังจะดึงดูดผู้ชมหลายล้านคน บวกกับฐานลูกค้าเดิมจากทีวีดั้งเดิม

ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ “เน็ตฟลิกซ์” ที่จะชิงเค้กก้อนโตนี้จากเจ้าตลาด ทั้งธุรกิจสตรีมมิ่งออนไลน์ และทีวีแบบดั้งเดิมได้ อีกทั้งยังมีแบรนด์สตรีมมิ่งน้องใหม่ “วาโว” (WAVO) ของดูไบที่เริ่มเข้ามาเจาะตลาดนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายรายที่มองว่า หากธุรกิจของเน็ตฟลิกซ์ในโลกอาหรับมีทิศทางบวก ก็น่าจะเห็นแบรนด์สตรีมมิ่งข้ามชาติรายอื่นตบเท้าตามมาติด ๆ อีกเป็นแน่