รายงาน UN ชี้ “อินเดีย” จ่อแซง “จีน” ขึ้นแท่นชาติที่มีประชากรมากสุดของโลก

REUTERS/Rupak De Chowdhuri

อินเดีย ทูเดย์ รายงานในวันนี้ (18 มิ.ย.) ระบุโดยอ้างข้อมูลของ The World Population Prospects 2019 โดยฝ่ายทรัพยากรของสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN) ที่ประเมินว่า จำนวนประชากรของอินเดียจะแซงหน้าประชากรชาวจีน ในอีก 8 ปีข้างหน้า

ทั้งระบุว่า ประชากรอินเดียจะเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 273 ล้านคน ในระหว่างปี 2019-2050 จากระดับปัจจุบันที่มีจำนวนประชากรราว 1.33 พันล้านคน หมายความว่า สิ้นสุดศตวรรษนี้ “อินเดีย” จะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก

ขณะเดียวกัน ในรายงานได้กล่าวถึง “ไนจีเรีย” ว่าจะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประชากรจะขยายตัวมากขึ้นชัดเจน โดยคาดว่าในปี 2050 จำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นอีก 200 ล้านคน จากปัจจุบันมีประมาณ 190 ล้านคน ทั้งนี้ หากนับจำนวนประชากรของไนจีเรียและอินเดียรวมกัน จะคิดเป็น 23% ของจำนวนประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2050

ทั้งนี้ ในปี 2019 คาดว่าประชากร “จีน” ยังมีจำนวนมากที่สุดในโลก อยู่ที่ 1.43 พันล้านคน ขณะที่ “อินเดีย” ตามมาเป็นอันดับ 2 คาดว่าจำนวนประชากรจะอยู่ที่ 1.37 พันล้านคน คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 19% และ 18% ตามลำดับ ส่วน “สหรัฐอเมริกา” ยังคงตามมาเป็นอันดับ 3 ของประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก

รายงานของ UN ฉบับล่าสุด ได้ระบุว่า ในภาพรวมคาดว่าจำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 7.7 พันล้านคนในปัจจุบัน ขยายตัวเพิ่มเป็น 9.7 พันล้านคน ในปี 2050 โดยมีทั้งหมด 9 ประเทศทั่วโลก ที่มองว่า จำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ในอีก 31 ปีข้างหน้า ได้แก่ อินเดีย ไนจีเรีย ปากีสถาน คองโก เอธิโอเปีย แทนซาเนีย อินโดนีเซีย อียิปต์ และสหรัฐ

ที่น่าสนใจก็คือ ในรายงานระบุว่า ประชากรผู้สูงอายุในโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าช่วงอายุของมนุษย์จะเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งจะหมายถึง ความสมบูรณ์ของประชากรโลกนั้นลดลง เนื่องจากประเทศที่จะประสบกับปัญหาประชากรลดลงจะเพิ่มมากขึ้น โดยภายในปี 2050 อายุของมนุษย์เฉลี่ยจะอยู่ที่ 65 ปี หรือมากกว่านั้น และประชากร 1 ใน 6 ของโลกจะมีอายุ 65 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 1 ใน 11 ในปี 2019

ส่วนจำนวนประชากรโลกที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า จากจำนวน 143 ล้านคนในปี 2019 เพิ่มขึ้นเป็น 426 ล้านคนในปี 2050

ทั้งนี้ Liu Zhenmin เลขาธิการสหประชาชาติด้านเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลในอนาคตคือ ประชากรที่เติบโตเร็วที่สุดกลับพบว่าอยู่ในประเทศที่ยากจนที่สุดของโลก ซึ่งอาจทำให้เกิดช่องว่างของความไม่เท่าเทียมให้กว้างขึ้น รวมไปถึง สภาวะการต่อสู้กับความยากจน ความหิวโหย ขณะที่เป้าหมายการขจัดความยากจนในหลายประเทศทั่วโลกจะมีอุปสรรคและความท้าทายที่มากขึ้น ครอบคลุมไปถึงคุณภาพของระบบสาธารณสุข โภชนาการต่างๆ และระบบการศึกษา ซึ่งเราต้องมั่นใจว่า จะไม่มีใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง

REUTERS/Adnan Abidi