“อสังหาฯฮ่องกง” แข็งแกร่ง ม็อบชุมนุมยืดเยื้อไม่สะเทือน

(Photo by DALE de la REY / AFP)

สถานการณ์การประท้วงในฮ่องกงได้ทวีความรุนแรงต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 4 เดือนแล้ว แม้ผู้บริหารของฮ่องกงจะมีความพยายามในการเปิดการเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าการชุมนุมจะยุติลงโดยง่าย สถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจการเงิน ค้าปลีก ท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของฮ่องกงทั่วหน้า ต่างจาก “ภาคอสังหาริมทรัพย์” ที่หลายฝ่ายยังคงมั่นใจในความแข็งแกร่ง

“รอยเตอร์ส” รายงานว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาราคาที่พักอาศัยในฮ่องกงเพิ่มสูงขึ้นกว่า 200% แรงหนุนสำคัญจากพื้นที่สำหรับการพัฒนาของฮ่องกงมีอย่างจำกัด และชาวจีนแผ่นดินใหญ่ได้เข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก ทำให้ชาวฮ่องกงต้องแบกรับราคาที่พักอาศัยที่สูงขึ้น

ปัจจุบันทางการฮ่องกงออกใบอนุญาตให้กับผู้พำนักชาวจีนแผ่นดินใหญ่ถึง 150 ใบในแต่ละวัน ทำให้จำนวนประชากรในฮ่องกงพุ่งสูงขึ้นถึง 7.4 ล้านคน ในพื้นที่เพียง 1,100 ตารางกิโลเมตร ซึ่งราว 40% เป็นอุทยานแห่งชาติและเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ

ดังนั้น แม้การชุมนุมประท้วงจะยืดเยื้อ แต่ความต้องการที่พักอาศัยในฮ่องกงยังไม่ลด ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย ตลอดช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 8.5% จากปีที่ผ่านมา โดยหลังการประท้วงปะทุขึ้นกลางเดือน มิ.ย. ก็ส่งผลให้ราคาที่พักอาศัยในเดือน ก.ค.ลดลงเล็กน้อย 0.1% และเดือน ส.ค.ลดลง 1.37%

บริษัท “ซัน ฮุง ไก” (SUN HUNG KAI) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของฮ่องกง เปิดเผยว่า สามารถขายห้องพักในย่านเกาลูนใจกลางเมืองฮ่องกงราว 352 ห้อง หลังที่เปิดตัวไปเมื่อกลางเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ท่ามกลางการชุมนุมที่ยังคงคุกรุ่น นับเป็นการตอกย้ำความต้องการที่พักอาศัยในฮ่องกงที่ยังคงแข็งแกร่ง

ขณะที่ “วีล็อค” (Wheelock) บริษัทอสังหาริมทรัพย์อีกแห่ง เปิดเผยว่า ยอดขายห้องพักในโครงการของบริษัทที่เปิดตัวตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ยังคงอยู่ใน “สภาวะที่ดี” โดยบริษัทได้จำหน่ายห้องพักในโครงการไปแล้วราว 80% ของห้องชุดทั้งหมด 816 ห้อง

ในปัจจุบันอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในฮ่องกง คือ อพาร์ตเมนต์ขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่มีพื้นที่ต่ำกว่า 600 ตารางฟุตลงไป เพราะมีราคาไม่สูงจนเกินไป คนทั่วไปจะจับต้องได้

ต่างจากกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ราคาสูงเนื่องจากกลุ่มชาวจีนซึ่งเป็นลูกค้าหลักชะลอการตัดสินใจ ทั้งผลกระทบจากการประท้วงในฮ่องกง ประกอบกับชาวจีนแผ่นดินใหญ่เพิ่มความระมัดระวังการใช้จ่าย เนื่องจากความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา

ด้านที่ปรึกษาการลงทุนทั้งหลายยังมองว่า การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีเสถียรภาพและให้ผลตอบแทนสูง สวนทางกับ “เจพี มอร์แกน” คาดการณ์ว่า หากเกิดสถานการณ์เลวร้ายที่สุดจากการประท้วงในฮ่องกง จะส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์อาจลดลงได้มากสุดถึง 30%

ขณะที่ “ริก้าคอร์ป” (Ricacorp) ปรับลดคาดการณ์ว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงปีนี้ปรับเพิ่มขึ้น 5% จากเดิมคาดการณ์ไว้ 10% โดย “ดีเร็ค ชาน” หัวหน้าฝ่ายวิจัยของริก้าคอร์ป ระบุว่า แม้จะเกิดความไม่มั่นใจจากเหตุการณ์ชุมนุม แต่ความต้องการซื้อที่พักอาศัยยังคงมีในระดับสูง ทำให้ราคาที่พักอาศัยยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นแม้จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

แม้ว่าความแข็งแกร่งของราคาของอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงสะท้อนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่ปัญหาที่พักอาศัยที่ไม่เพียงพอและราคาสูงเกินเอื้อม ได้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวฮ่องกงมาอย่างยาวนาน โดยที่ผู้นำฮ่องกงไม่สามารถแก้ปัญหาได้จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมประท้วงใหญ่ครั้งนี้

และหากไม่สามารถแก้ปมราคาที่พักอาศัยในฮ่องกงที่สูงติดอันดับโลกได้ ประเด็นนี้ก็คงจะเป็นปัญหาเรื้อรังของฮ่องกงต่อไป