“เวเนฯ” ได้ที่นั่งใน “คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN” ค้านสายตานานาชาติ

นิโกลัส มาดูโร (REUTERS/Manaure Quintero)

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า “เวเนซุเอลา” ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งใน “คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ” เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม จากสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในประเทศที่ย่ำแย่ในช่วงที่ผ่านมา

โดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้คัดเลือกประเทศเวเนซุเอลาเป็น 1 ใน 2 ประเทศจากภูมิภาคลาตินอเมริกาและเป็น 1 ใน 14 ประเทศสมาชิกใหม่ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในที่นั่งรวมทั้งหมด 47 ประเทศ

ทั้งนี้ หลายประเทศต่างตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของเวเนซุเอลา ภายใต้การนำของประธานาธิบดี “นิโกลัส มาดูโร” เนื่องจากประวัติการจับกุมคุมขัง การทรมาน และการอุ้มหายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส

อีกทั้งยังมีอีกมากกว่า 50 ประเทศไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน สหราชอาณาจักร และอีกหลายประเทศในสหภาพยุโรปและลาตินอเมริกา ที่ไม่ยอมรับว่ารัฐบาลมาดูโรเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมของเวเนซุเอลาอีกต่อไป แต่ให้การยอมรับ “ฆวน กวยโด” ผู้นำฝ่ายค้านในฐานะประธานาธิบดีรักษาการของเวเนซูเอลา แต่อย่างไรก็ตามยังคงมี จีน รัสเซีย และคิวบา ที่ยังคงให้การสนับสนุนรัฐบาลมาดูโรอยู่

ก่อนหน้านี้ “หลุยส์ ชาร์บอนโน” จากฮิวแมนไรท์วอทช์ได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกร่วมกันลงคะแนนคัดค้านเวเนซุเอลา โดยระบุว่า “การลงคะแนนให้เวเนซุเอลาเท่ากับเป็นการลงคะแนนเพื่อส่งเสริมการทรมาน การฆาตรกรรม และการละเว้นการลงโทษผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ของรัฐบาลประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร” และ “นับเป็นการตบหน้าผู้คนนับล้านที่ลี้ภัยออกนอกประเทศเวเนซุเอลา”

ทั้งนี้ นอกจากเวเนซุเอลาแล้ว ยังมีบราซิลที่เป็นอีกประเทศหนึ่งจากภูมิภาคลาตินอเมริกา ที่ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในครั้งนี้ด้วย