เมื่อเศรษฐกิจโลก แบกหนี้ 250 ล้านล้าน !

(AP Photo/Mark Lennihan, File photo)

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เมื่อเดือน ต.ค.ปลายปีที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เคยออกมาเตือนเรื่อง “หนี้” เอาไว้ว่า ระดับหนี้ของบริษัทธุรกิจใน 8 ประเทศเศรษฐกิจสำคัญของโลกอย่าง สหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น, เยอรมนี, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, อิตาลี และสเปน เกือบ 40% อยู่ในระดับ “สูงมาก”จนหากเกิด “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” ขึ้นก็จะกลายเป็นปัญหา คือ ไม่สามารถชดใช้หนี้ในระดับดังกล่าวได้

พูดง่าย ๆ ก็คือ ไอเอ็มเอฟ บอกเอาไว้ว่า ธุรกิจหลายหมื่นรายในประเทศเหล่านั้น ซึ่งว่าจ้างพนักงานอยู่รวมกันแล้วหลายล้านคน ซึ่งเดิมพันอนาคตของตัวเองอยู่กับหนี้สินในระดับสูง คิดเป็นเม็ดเงินรวมแล้วเท่ากับ 19 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำลังจะแพ้เดิมพันที่ว่านั้นแล้วทำให้ตัวเองตกอยู่ในสภาพ “ล้มละลาย” มีหนี้สินล้นพ้นตัวนั่นเอง

ข้อสังเกตที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันมากนัก ก็คือ ไอเอ็มเอฟชี้เอาไว้ด้วยว่า 8 ใน 10 ประเทศที่ว่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่มีความสำคัญในเชิงระบบต่อภาคการเงินของโลก พร้อมทั้งเตือนเอาไว้ด้วยคำบอกเล่าที่เหมือนเป็นการสำทับว่า สถานการณ์ในเวลานี้ตกอยู่ในสภาพเหมือนกับในช่วงปีก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งหลังสุดแทบไม่ผิดเพี้ยน

ถัดมาอีก 2 เดือน เดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์ ออกมาพูดเรื่องเดียวกันนี้ แต่ไม่ได้พูดถึงประเทศที่มีระบบการเงินระดับหัวแถวของโลกอย่างที่ไอเอ็มเอฟพูดถึงเอาไว้ แต่เป็นการชี้ให้เห็นถึงระดับหนี้สินในประเทศกลุ่ม “อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต แอนด์ ดีเวลอปปิ้ง คันทรีส์” (อีเอ็มดีอี) รวม 100 ประเทศ ว่า มียอดหนี้สูงมากเป็นประวัติการณ์ถึง 55 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าไปแล้วในปี 2018

ตามข้อมูลของธนาคารโลก บรรดาประเทศเศรษฐกิจใหม่และประเทศกำลังพัฒนาทั้ง 100 ประเทศในแอฟริกา, เอเชีย และอเมริกาใต้ มีหนี้สินรวมเพิ่มมากขึ้นมามาก เพราะทั้งภาคเอกชนและภาครัฐในประเทศเหล่านี้ช่วยกันเพิ่มหนี้สินมากขึ้นเรื่อย ๆ

ข้อสังเกตของธนาคารโลก ก็คือ หนี้ในประเทศเหล่านี้ไม่เพียงขยายตัวใหญ่โตขึ้นมากเท่านั้น ยังมีคุณลักษณะของตัวหนี้ที่แตกต่างไปจากเดิม ๆ อีกด้วย

ความเปลี่ยนแปลงประการแรก ก็คือ ลักษณะหนี้ซึ่งแต่เดิมเป็นการก่อหนี้เพื่อการลงทุน กลับกลายเป็นการสร้างหนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ด้านสาธารณสุข, การศึกษา และรัฐสวัสดิการ ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ขึ้นโดยตรง

ประการถัดมา หนี้เหล่านี้เป็นการกู้ยืมจากนักลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งมุ่งเป้าปล่อยกู้ให้กับประเทศกำลังพัฒนาเป็นพิเศษ เนื่องจากได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนั่นเอง

ธนาคารโลกบอกว่า ระดับหนี้ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเร็วมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แล้วเห็นได้ชัดเจนว่า “สูงมากเกินไป” เพราะเพิ่มจากระดับเพียง 54% จากปี 2010 เป็น 168% ของจีดีพีในปี 2018

แค่เพียงครึ่งแรกของปี 2019 ที่ผ่านมา ระดับหนี้ของโลกก็ทะลุถึงจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คือ มหาศาลถึง 250 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่น่าตกใจ ก็คือ ไม่ค่อยจะมีใครใส่ใจกับคำเตือนของไอเอ็มเอฟและเวิลด์แบงก์คราวนี้มากมายนัก หลายคนถึงกับปฏิเสธผลการศึกษาเหล่านี้ด้วยซ้ำไป ส่วนหนึ่งให้เหตุผลว่า ไอเอ็มเอฟและเวิลด์แบงก์ “ตื่นตูม” ไปเองหลังจากที่เคยพลาดท่า ไม่รู้สึกรู้สาก่อนหน้าวิกฤตคราวที่แล้วที่สหรัฐอเมริกา เลยมองเห็นทุกอย่างเป็น “อันตราย” ไปทั้งหมด

อีกส่วนหนึ่งกล่าวหาสถาบันการเงินทั้งสองหนักกว่านั้น ว่า มีแนวคิดล้าหลัง ย้อนยุค และ “ล้มเหลวที่จะทำความเข้าใจเศรษฐกิจโลกยุคใหม่” แล้วทุกคนก็ยังคงกู้หนี้ยืมสินอย่างสนุกสุขสันต์กันต่อไป

ธนาคารกลางของหลายประเทศยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำแทบจะเป็นศูนย์อยู่ต่อไป เช่นเดียวกับกองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) ที่หลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ระลอกเมื่อปีที่ผ่านมา ก็ทำให้อัตราดอกเบี้ยตกกลับไปอยู่ที่ระหว่าง 1.5% ถึง 1.75% อีกครั้ง ซึ่งเท่ากับเป็นการกระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมกันต่อเนื่องต่อไป

ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า สภาพเศรษฐกิจของโลกในยามนี้ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่อาจทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดภาวะถดถอยขึ้นมาเมื่อใดก็ได้

ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจถดถอย ไม่ยากที่วิกฤตหนี้รอบใหม่จะกลายเป็นจริงขึ้นมาหนักหนาสาหัสมากยิ่งขึ้น

และเกิดขึ้นโดยที่แต่ละประเทศไม่เหลือเครื่องมือสำคัญอย่างมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณอยู่ในมือแล้วอีกด้วย