ผิดหวัง “ข้อตกลงค้าเฟส 1” ไม่แก้รากเหง้าปัญหา-เสี่ยงล่มทุกเมื่อ

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย นงนุช สิงหเดชะ

เซ็นกันไปแล้วเรียบร้อยสำหรับข้อตกลงทางการค้าเฟสแรก ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา โดยไม่มีการพลิกล็อกนาทีสุดท้ายอีก พิธีลงนามดังกล่าวจัดขึ้นที่ทำเนียบขาว ผู้ลงนามของฝ่ายสหรัฐ คือ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ส่วนผู้ลงนามฝ่ายจีน คือ รองนายกรัฐมนตรี หลิว เหอ ในฐานะหัวหน้าทีมเจรจา

รายละเอียดข้อตกลงที่มีการเปิดเผยออกมาระบุว่า จีนตกลงจะซื้อสินค้าจากสหรัฐเพิ่มอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ ในระยะ 2 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย สินค้าภาคการผลิตมูลค่า 3.29 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ และ 4.48 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีหน้า สินค้าเกษตรมูลค่า 1.25 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ และ 1.95 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีหน้า สินค้าพลังงาน 1.85 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ และ 3.39 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีหน้า สินค้าบริการ 1.28 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ และ 2.51 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีหน้า

ส่วนเรื่องภาษีที่สหรัฐเคยจัดเก็บจากจีนไปนั้น มีทั้งการยกเลิกบางส่วน ลดบางส่วน และคงไว้อีกบางส่วน ประกอบด้วย ยกเลิกการจัดเก็บภาษีสินค้าจากจีนมูลค่า 1.62 แสนล้านดอลลาร์ ที่เดิมกำหนดจะเก็บในอัตรา 15% เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมปีที่แล้ว ลดการเก็บภาษีสินค้าจากจีนมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ เหลือ 7.5% จากเดิม ที่เคยเก็บไป 15% เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม สหรัฐจะยังเก็บภาษีสินค้าจีนมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ ที่เคยเก็บไปเมื่อเดือนกันยายน ในอัตรา 25% เท่าเดิม ขณะที่จีนจะยังคงเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ที่เคยเก็บไปก่อนหน้านี้เช่นเดิม

ภายใต้ข้อตกลงนี้ยังมีการระบุถึงการจะต้องไม่มีการบังคับให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนจะต้องมีการเพิ่มความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งถึงแม้ถ้อยคำในข้อตกลงจะใช้คำว่า “ทั้งสองฝ่าย” แต่ถูกตีความว่า จีนยอมตามข้อเรียกร้องของสหรัฐ

ประธานาธิบดีทรัมป์แถลงอย่างยืดยาว โดยกล่าวว่า นี่เป็นความสำเร็จทางนโยบายของตน และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ พร้อมทั้งอ้างถึงเหตุผลที่ยังคงจัดเก็บภาษีสินค้าจากจีน มูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ตามเดิมว่า เพื่อเป็นเครื่องมือในการบังคับให้จีนปฏิบัติตามข้อตกลง ส่วนนายโรเบิร์ต ไลไทเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐและ นายสตีฟ มนูชิน รัฐมนตรีคลัง เปิดเผยว่า จะมีการลดภาษีสินค้าจีนมากกว่านี้ในเฟสที่ 2 โดยจะเริ่มเจรจาก่อนการเลือกตั้งสหรัฐ

นักวิเคราะห์หลายคนระบุว่า ข้อตกลงนี้ยังมีความเปราะบาง อาจไม่มีความยั่งยืน เพราะถึงแม้ความตึงเครียดทางการค้าจะลดลง แต่ความตึงเครียดในประเด็นอื่นระหว่างจีนและสหรัฐอาจปะทุขึ้นมาอีก เช่น ปัญหาในฮ่องกง และสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ในจีน นอกจากนี้ ถือว่าปัญหาหลายอย่างในเชิงโครงสร้างไม่ได้รับการแก้ไข เพราะยังไม่มีการยกเลิกภาษีระหว่างกันทั้งหมด อีกทั้งการกำหนดเป้าหมายให้จีนซื้อสินค้าสหรัฐในระดับ 2 แสนล้านดอลลาร์นั้นสูงเกินไป ยากที่จะบรรลุ

มิเชล เอริกสัน-โจนส์ โฆษกกลุ่มเกษตรและการค้าเสรีของอเมริการะบุว่า ข้อตกลงครั้งนี้ไม่ได้ยุติปัญหาตอบโต้กันทางภาษีที่มีต่อสินค้าเกษตรส่งออกของสหรัฐ ทำให้เกษตรกรสหรัฐต้องพึ่งพาตลาดจีนมากขึ้น

แพทริก โควาเน็ก หัวหน้านักกลยุทธ์ของซิลเวอร์เครสต์ แอสเสต แมเนจเมนต์ ชี้ว่า ข้อตกลงดังกล่าวยังไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดกับจีนได้ถึงครึ่งทาง และแม้แต่ 25% ก็ยังไม่ถึงด้วยซ้ำ เราหวังว่าเมื่อเข้าสู่ปีใหม่ ความไม่แน่นอนทั้งหมดสำหรับตลาดจะหายไป แต่กลับไม่ใช่ นอกเหนือจากปัญหาภาษีแล้ว เชื่อว่าปัญหาหลายอย่างจะปกคลุมความสัมพันธ์ทั้ง 2 ประเทศต่อไป

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ข้อตกลงดังกล่าวแม้จะเซ็นไปแล้ว แต่อาจล่มได้ตลอดเวลา เนื่องจากหลังจากนี้ สหรัฐจะมีการประเมินว่า จีนทำตามข้อตกลงหรือไม่ หากไม่ทำตาม สหรัฐสามารถกลับไปเก็บภาษีจีนอีกครั้ง และหากจีนไม่พอใจก็สามารถถอนตัวจากข้อตกลงได้

ความผิดหวังดังกล่าว ทำให้ดัชนีดาวโจนส์ที่ปรับขึ้น 206 จุด ในช่วงระหว่างการซื้อขาย อ่อนตัวลงในช่วงปิดตลาดโดยเพิ่มขึ้นเพียง 91 จุด หลังจากทราบรายละเอียดข้อตกลง


ก่อนหน้านี้ สถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สันของสหรัฐระบุว่า แม้จะมีการเซ็นข้อตกลงเฟสแรกไปแล้ว แต่อัตราภาษีที่สหรัฐเก็บจากจีนก็จะไม่กลับไปต่ำเท่ากับช่วงก่อนเกิดสงครามการค้า ที่โดยเฉลี่ยแล้วสหรัฐเก็บเพียง 3% ในขณะที่อัตราภาษีเฉลี่ยหลังการเซ็นข้อตกลงเฟส 1 จะอยู่ที่ 19.5% ลดลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบอัตราเฉลี่ยปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 21%