EU ใช้ยาแรงอุ้มแรงงาน แซงก์ชั่นการค้า “กัมพูชา”

สถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนใน “กัมพูชา” กำลังเป็นที่จับตามอง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ถูกลิดรอนสิทธิ รวมถึงการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองจากทางการกัมพูชา ส่งผลให้ “สหภาพยุโรป” (อียู) ใช้เหตุผลนี้ในการยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้าเพื่อกดดันให้รัฐบาลกัมพูชาปรับปรุงมาตรการด้านสิทธิมนุษยชน

บลูมเบิร์กรายงานว่า อียูเตรียมยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้าที่ให้กับกัมพูชา ตามโครงการ “ทุกสิ่งยกเว้นอาวุธ” (Everything But Arms) หรือ “อีบีเอ” ที่ให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนา รวม 48 ประเทศทั่วโลกในการส่งออกสินค้าทุกประเภท ยกเว้นอาวุธสงคราม เข้าสู่ตลาดอียูได้โดยไม่เสียภาษีศุลกากร

โดย คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ได้มีมติเมื่อ 12 ก.พ.ว่า จะยกเลิกสิทธิพิเศษดังกล่าวของกัมพูชา รวมถึงสิทธิในการส่งออกสินค้ามายังอียูโดยไม่จำกัดโควตา โดยมีผลในวันที่ 12 ส.ค.นี้ หากไม่มีการคัดค้านจากรัฐสภายุโรป นับเป็นส่วนหนึ่งของการแซงก์ชั่นทางการค้า เพื่อกดดันให้รัฐบาลกัมพูชาปฏิบัติตามข้อเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชน

ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสินค้าบางประเภทที่กัมพูชาส่งออกไปยังอียู ได้แก่ น้ำตาล สินค้าสำหรับการเดินทาง รองเท้า และเสื้อผ้าสิ่งทอ คิดเป็นมูลค่าถึง 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี หรือราว 20% ของสินค้าส่งออกของกัมพูชาไปยังอียูทั้งหมดมากกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี

ฟิล โฮแกน กรรมาธิการด้านการค้าของอีซี ระบุในแถลงการณ์ว่า “เป้าหมายของเราคือ ให้ผู้มีอำนาจของกัมพูชายุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเราจะยังคงทำงานกับพวกเขาต่อไป เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว” ขณะที่ โจเซฟ บอร์เรล ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศ ระบุว่า “สหภาพยุโรปจะไม่ยอมนิ่งเฉยมองดูประชาธิปไตยถูกกัดเซาะ สิทธิมนุษย์ถูกลิดรอน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกปิดกั้น”

ทั้งนี้ อียูได้เริ่มจับตาสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในกัมพูชามาตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2018 ที่พรรคการเมืองของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน สามารถกวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้ทั้งหมด ท่ามกลางการเลือกตั้งที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่เป็นอิสระ และมีการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง นักเคลื่อนไหว และสื่อมวลชนด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการแทรกแซงสหภาพแรงงานและการลิดรอนสิทธิแรงงาน โดยอียูได้ส่งคำเตือนไปยังรัฐบาลกัมพูชา และติดตามสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา มาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2019

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ระบุว่า แม้ว่าการเก็บภาษีศุลกากรอาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจของกัมพูชา แต่อียูก็จะไม่สามารถคุกคามหรือวางเงื่อนไขใด ๆ ต่อกัมพูชาได้อีกต่อไป พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า การรักษาอิสรภาพและอธิปไตยของประเทศมีความสำคัญมากกว่าการรักษาสิทธิพิเศษตามรายงานของเอพี

ทั้งนี้ อียูนับว่าเป็นคู่ค้าสำคัญที่สุดของกัมพูชา โดยกัมพูชาได้รับประโยชน์จากอีบีเอมากสุด เป็นอันดับที่ 2 รองจากบังกลาเทศ และในปี 2018 กัมพูชาส่งออกสินค้าไปอียูมากถึง 45% ของการส่งออกทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ารวม 5,900 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสินค้าที่ส่งออกไปยังอียูโดยได้รับสิทธิพิเศษจากอีบีเอมีสัดส่วนถึง 95.7% ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเสื้อผ้าสิ่งทอที่มีสัดส่วนมากถึง 75%

โดยการยกเลิกสิทธิพิเศษอีบีเอจะทำให้การนำเข้าสินค้ากัมพูชาสู่อียูจะต้องเสียภาษีอย่างการนำเข้าสินค้าเสื้อผ้าสิ่งทอต้องเสียภาษีในอัตรา 12% จากเดิมที่ได้รับการยกเว้นทั้งหมด

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 12 ก.พ. รัฐสภายุโรปยังได้ลงมติรับรองข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับเวียดนาม หลังจากที่อียูสามารถบรรลุการเจรจากับเวียดนามก่อนหน้านี้ ให้ยินยอมปรับปรุงนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองสิทธิแรงงานได้สำเร็จ นับว่าอียูกำลังใช้ผลประโยชน์ทางการค้าเป็นข้อต่อรอง ในการผลักดันเป้าหมายเชิงนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงานในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก