เศรษฐกิจเวียดนาม สะเทือนหนักจาก “โควิด-19”

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

ถึงวันที่ 23 ก.พ. เวียดนามยังพบผู้ติดเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันแล้วในประเทศเพียง 16 รายเท่านั้น โดยยังไม่พบว่ามีผู้ใดเสียชีวิต

แต่ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดครั้งนี้ต่อเวียดนาม ดูเหมือนจะหนักหนาสาหัสกว่าการระบาดของเชื้อโรคหลายเท่าตัวนัก

นับตั้งแต่การระบาดเริ่มต้นในจีนเมื่อปลายปีที่แล้ว ทางการเวียดนามพยายามดำเนินมาตรการหลายต่อหลายอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดขึ้นภายในประเทศ รวมทั้งการขยายวันหยุดในช่วงเทศกาลตรุษญวนหรือปีใหม่ของเวียดนามออกไปในหลายเมือง และระงับการค้าบริเวณด่านชายแดนทางด้านเหนือของประเทศที่ติดต่อกับประเทศจีนลงทั้งหมด

ถึงวันที่ 20 ก.พ. หลายด่านศุลกากรเหล่านั้น ยังคงเปิดดำเนินงานอย่างจำกัด ภายใต้เงื่อนไขป้องกันที่เคร่งครัด เช่น คนขับรถบรรทุกสินค้าทุกคนที่ขับรถผ่านเข้ามา จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ และจำกัดการออกจากรถบรรทุกไว้เข้มงวดอีกด้วย

ภายในประเทศ โรงเรียนยังคงปิดเรียน นักท่องเที่ยวที่เคยมากมายหลงเหลือให้เห็นเพียงเล็กน้อย เช่นเดียวกับราว 20% ของแรงงานในโรงงานต่าง ๆ ตกอยู่ในสภาพไม่มีงานทำชั่วคราว ทั้งเนื่องจากความต้องการสินค้าจากจีนหดหายไป หรือจากการที่ชิ้นส่วนและวัตถุดิบสำหรับการผลิตชะงักงันไปตามสภาวะปั่นป่วนของห่วงโซ่การผลิตทั้งหลาย

ภาคคมนาคมขนส่ง ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสในจีนอย่างหนัก รายงานเบื้องต้นของบรรดาสายการบินทั้งหลายของเวียดนามที่ระงับการบินไปและกลับจากจีนมาตั้งแต่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ระบุว่า เสียหายไปแล้วคิดเป็นมูลค่าราว 435 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การรถไฟเวียดนาม ซึ่งเป็นวิสาหกิจของรัฐ รายงานว่า รายได้ในช่วง 19 วันแรกของเดือน ก.พ. ลดลงไปราว 2.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องชดใช้ค่าบัตรโดยสารคืนให้กับผู้ใช้บริการ ที่ไม่ต้องการเดินทางในสภาวะสุ่มเสี่ยงตามคำแนะนำของทางการนั่นเอง

โรงงานผลิตรองเท้าที่จังหวัดทันห์ ฮัว ติดกับชายแดนจีน คนงานจำนวนเกือบ 12,000 คนถูกขอร้องให้หยุดงานถึง 2 วันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพราะโรงงานไม่มีวัตถุดิบหลงเหลือให้แรงงานเหล่านั้นทำงานตามปกติได้

แต่โรงงานสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปอีกมากมายทั่วเวียดนามกลับเผชิญปัญหาอีกแบบ แรงงานในโรงงานเหล่านั้นพากันหยุดงานประท้วงทั่วประเทศ เพราะความกลัวว่าเพื่อนแรงงานจากประเทศจีนที่เดินทางกลับมาทำงานหลังวันหยุดเทศกาลปีใหม่ จะนำพาเอาเชื้อโควิด-19 มาให้ ถึงขนาดสหภาพแรงงานที่รัฐบาลควบคุมอยู่จำเป็นต้องใช้มาตรการ “แจก” หน้ากากอนามัยและให้คำแนะนำเพื่อป้องกันการติดเชื้อออกมาบังคับใช้

ทั้งหมดเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจของเวียดนามกระทบกระเทือนหนักไม่น้อย แม้ว่าจะไม่สาหัสสากรรจ์เท่ากับที่จีนได้รับผลกระทบอยู่ในเวลานี้ก็ตามที สาเหตุสำคัญประการหนึ่งนั้นเป็นเศรษฐกิจของเวียดนามพึ่งพาจีนอยู่สูงมาก

คณะกรรมการที่ปรึกษาการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ทีเอบี) ของเวียดนาม เพิ่งประเมินสถานการณ์เมื่อไม่นานมานี้ พบว่า ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบินของประเทศนั้นสูงมาก

ทีเอบีชี้ว่า เฉพาะในไตรมาสแรกเพียงไตรมาสเดียว ความสูญเสียต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะมากถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หากภาวะการระบาดยังคงมีต่อเนื่องไป จนกระทั่งสิ้นสุดไตรมาส 2 ความเสียหายจะมากถึง 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

เคบี ซีเคียวริตีส์คาดว่า ปริมาณการบริโภคสินค้าในจีนจะลดลงอย่างมากจากภาวะการแพร่ระบาด ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องทำให้จีนลดการนำเข้าสินค้าจากเวียดนามลงตามไปด้วย ตอนนี้จีนคือผู้บริโภคสินค้าเกษตรจากเวียดนามรายใหญ่ที่สุด มูลค่าการนำเข้าเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมาสูงถึง 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังไม่มีใครรู้ชัดว่าจะหดหายไปเท่าใดจากการระบาดครั้งนี้

เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา กระทรวงนโยบายและการลงทุน (เอ็มพีไอ) ของเวียดนาม เผยแพร่รายงานซึ่งจัดทำเมื่อ 12 ก.พ. คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของเวียดนาม จะได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการแพร่ระบาดครั้งนี้

โดยหากการระบาดสามารถ “ควบคุมได้” ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ จีดีพีตลอดปีของเวียดนามจะขยายตัวอยู่ที่เพียง 5.96% ซึ่งแม้จะดูไม่เลว แต่สำหรับเวียดนามแล้ว นั่นคือระดับการขยายตัวที่ต่ำที่สุดรอบ 7 ปีเลยทีเดียว

เอ็มพีไอยอมรับว่า เวียดนามเป็นหนึ่งใน 4 ประเทศที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในจีนหนักหน่วงที่สุด

อีก 3 ประเทศที่เหลือไม่ใช่อื่นไกล คือ ประเทศอย่างสิงคโปร์ ไทย และเขตปกครองพิเศษฮ่องกงนั่นเอง