ช็อกโลก! ราคาน้ำมันดิบสหรัฐ “ติดลบ” ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

รอยเตอร์ระบุว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ ราคาน้ำมันดิบในสหรัฐปรับตัว “ติดลบ” ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ WTI สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือน พ.ค. ที่จะครบกำหนดในวันที่ 21 เม.ย. 63 ล่าสุดปรับลดลงกว่า 300% ไปติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ภายหลังที่ทาง Chicago Mercantile Exchange (CME) กล่าวว่าเป็นไปได้ที่จะมีการซื้อขายที่ราคาติดลบ โดยราคาต่ำสุดอยู่ที่ -40.32 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนปิดที่ระดับ -37.63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงท่ามกลางปริมาณธุรกรรมที่ค่อนข้างบาง (ปริมาณสัญญาเดือน พ.ค. อยู่ที่ 126,400 สัญญา เทียบกับเดือน มิ.ย. ที่ใกล้ระดับ 800,000 สัญญา) จากอุปสงค์และอุปทานในตลาดซื้อขายจริงของน้ำมันดิบที่ “ไม่สมดุล” โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ ที่อุปสงค์ปรับลดลงอย่างรุนแรงจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หดตัวลงมากในช่วงวิกฤตแพร่ระบาดไวรัส COVID-19

ขณะที่อุปทานในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูงจน capacity ในสหรัฐฯสำหรับการจัดเก็บน้ำมันดิบทั้งที่เมือง Cushing รัฐ Oklahoma ซึ่งเป็นจุดขนส่งของ WTI และน้ำมันที่กลั่นแล้วกำลังจะเกินขีดความสามารถการจัดเก็บ ทำให้ผู้ซื้อโดยเฉพาะกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันที่มีข้อจำกัดด้านการจัดเก็บน้ำมันไม่ต้องการรับมอบน้ำมันดิบ และทำการ roll over สัญญาออกไปเพื่อหลีกเลี่ยงการรับส่งมอบที่มีต้นทุนในการจัดเก็บ

ส่วนราคาน้ำมันเวสต์เท็กซัสที่ส่งมอบในเดือนมิถุนายนยังคงปรับตัวลดลง แต่ยังซื้อขายกันอยู่ที่ระดับมากกว่า 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทะเลเหนือ ซึ่งใช้ในยุโรปและพื้นที่อื่น ๆ ของโลก ราคาซื้อขายในเดือนมิถุนายนก็ปรับตัวลดลง 8.9% มาอยู่ที่ต่ำกว่า 26 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเช่นกัน ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันในแถบยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลางที่มีความยืดหยุ่นในการขนส่งน้ำมันจากแหล่งผลิตไปยังตลาดได้มากกว่า ทั้งทางภาคพื้นดิน หรือทางทะเล สวนทางกับผู้ผลิตและผู้กลั่นน้ำมันในหลายแห่งของสหรัฐฯ ที่หลายที่เป็น landlocked อาทิ ในแถบ Midwest ที่ต้องพึ่งพาการขนส่งตามท่อหรือทางรถไฟไปยังตลาด และมีข้อจำกัดในการหาคลังสินค้าเพิ่ม โดยวันนี้ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับลดลง 7.59% มาปิดที่ 25.95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ส่วนต่างราคาน้ำมันดิบ WTI กับ Brent สูงสุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้ สถานการณ์ราคาน้ำมันยังส่งผลให้ตลาดหุ้นในสหรัฐฯ ร่วงลงไปตามกัน โดยดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 1.7% มาอยู่ที่ 2,823.16 จุด ส่วนดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ลดลง 2.4% มาปิดที่ 23,650.44 จุด เช่นเดียวกับแนสแดกที่ลดลง 1% มาปิดที่ 8,560.73 จุด