มุมมองผู้บริหารยุคโควิด “ฤาจะถึงจุดจบของออฟฟิศ ?”

“เวิร์กฟอร์มโฮม” หรือการทำงานที่บ้านโดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ อาจไม่ใช่เพียงเรื่องชั่วขณะในยุคการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกต่อไป แต่อาจกลายเป็นการทำงานวิถีใหม่ที่เปลี่ยนโฉมหน้าการทำงานของคนทั้งโลกไปตลอดกาล

ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้ผู้คนที่อยู่ห่างไกลสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่า หรือมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าการนั่งจมอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ในออฟฟิศที่แสนวุ่นวาย แต่เวิร์กฟอร์มโฮมเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถจัดสรรเวลาการทำงานได้ถูกจริตของแต่ละบุคคลได้ ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในแต่ละวันที่เดินทางออกจากบ้านมาทำงานด้วย ทำให้ผู้คนสามารถสร้างสมดุลระหว่างการทำงานให้สำเร็จลุล่วงพร้อมกับใช้ชีวิตอย่างมีความสุข หรือนี่อาจจะเป็น จุดจบของออฟฟิศ ?

เว็บไซต์ fastcompany.com รายงานผลสำรวจของ The Kung Group บริษัทพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำและการบริหารจัดการ ที่สอบถามความคิดเห็นผู้ก่อตั้งและร่วมลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ 517 ราย ด้วยคำถามง่าย ๆ อย่าง “ถ้าคำสั่งห้ามประชาชนเดินทางออกนอกที่พักอาศัยในช่วงโควิด-19 ถูกยกเลิกไป คุณจะเปิดทำการบริษัทและให้พนักงานกลับไปทำงานในสำนักงานหรือไม่” ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามถึง 65% ตอบว่า “ไม่”

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 71% ยังระบุว่า จะยังคงอนุญาตให้พนักงานบางส่วนหรือทั้งหมดทำงานทางไกล (work remotely) ต่อไป โดยซีอีโอของบริษัทต่าง ๆ มากถึง 60% ชี้ว่าการให้พนักงานทำงานทางไกลไม่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน และมีถึง 16% ที่ระบุว่า การทำงานโดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศทำให้ประสิทธิผลในการทำงานเพิ่มสูงขึ้นด้วย

รายงานระบุว่าผลสำรวจเหล่านี้กำลังชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตการทำงานของผู้คนหลังยุคโควิด-19 โดยผู้บริหารที่ตอบแบบสอบถามถึง 60% ระบุว่า กำลังพิจารณาปิดทำการหรือปรับลดขนาดสำนักงานของบริษัทลง เนื่องจากบริษัทจะอนุญาตให้พนักงานราว 70% ของพนักงานทั้งหมดที่ปฏิบัติงานในออฟฟิศให้สามารถทำงานทางไกลต่อไปได้ แม้คำสั่งห้ามออกนอกที่พักจะถูกยกเลิก

ผู้บริหารที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังคาดการณ์ว่า คำสั่งห้ามประชาชนเดินทางออกนอกที่พักอาศัยทั้งหมดจะถูกยกเลิกในช่วงไตรมาส 3/2020 โดย 67% ระบุว่า พวกเขาจะทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภายในสำนักงานเป็นอันดับแรก เพื่อปกป้องความปลอดภัยพนักงานของพวกเขา

ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามราว 61% ระบุว่า จะอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้านไปจนกว่าพวกเขาจะรู้สึกว่ามีความปลอดภัยเพียงพอในการเดินทาง และมีความสามารถจัดการการดูแลบุตรหลานได้ ซึ่งอาจหมายถึงการรอให้สถานศึกษาเปิดทำการอีกครั้ง หรือผู้คนมีความเชื่อมั่นในการจ้างผู้ดูแลเด็กเล็กอีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้บริษัทไม่ต้องรับผิดชอบในการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม สำหรับการเดินทางและการดูแลบุตรหลานให้กับพนักงาน