ยูนิลีเวอร์นำทีม 100 บริษัทยักษ์บอยคอตโฆษณา ‘เฟซบุ๊ก’

(Photo by MANDEL NGAN / AFP)

กระแสการประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมให้กับ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายอเมริกันผิวสีที่ถูกตำรวจจับกุมด้วยความรุนแรงจนเสียชีวิต ได้ขยายวงกว้างไปสู่การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือการใช้ถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังหรือ “เฮตสปีช” (hate speech) บนโลกออนไลน์ที่กลายเป็นประเด็นใหญ่ หลังจาก “เฟซบุ๊ก” โซเชียลมีเดียรายใหญ่นิ่งเฉยต่อกรณีดังกล่าว จนนำมาสู่การบอยคอตโฆษณาบนเฟซบุ๊กของธุรกิจรายใหญ่จำนวนมากในขณะนี้

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า บริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมากได้ประกาศยกเลิกโฆษณาบนเฟซบุ๊ก เพื่อกดดันให้เฟซบุ๊กทบทวนนโยบายและแนวทางปฏิบัติต่อเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง รวมถึงข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิด โดยจุดเริ่มต้นของบอยคอตมาจากกระแสความไม่พอใจต่อประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่โพสต์ข้อความทั้งบนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ซึ่งตีความได้ว่าสนับสนุนการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ชุมนุมกรณีจอร์จ ฟลอยด์ ที่ระบุว่าตำรวจจะเริ่มใช้ปืนยิงผู้ชุมนุมทันทีที่มีการปล้นสะดม

โดยทวิตเตอร์ได้ปิดกั้นการเข้าถึงข้อความของประธานาธิบดีทรัมป์ทันที ต่างจากเฟซบุ๊กที่เพิกเฉยต่อกรณีดังกล่าว โดย “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ซีอีโอของเฟซบุ๊กระบุว่า บริษัทไม่มีนโยบายปิดกั้นข้อความในลักษณะดังกล่าว

ส่งผลให้ความไม่พอใจต่อมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ปะทุขึ้นทุกทิศทาง ทั้งในกลุ่มผู้ชุมนุม จากสมาชิกสภาคองเกรส ไปจนถึงการประท้วงหยุดงานของพนักงานเฟซบุ๊กด้วย และประเด็นได้ขยายผลไปสู่การเรียกร้องให้เฟซบุ๊กทบทวนนโยบายเกี่ยวกับเฮตสปีชบนโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม

เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มองว่าเฟซบุ๊กหาผลประโยชน์เพื่อตัวเองจากการปล่อยให้เฮตสปีชยังคงแพร่กระจายในแพลตฟอร์ม

“จิม สเตเยอร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของคอมมอนเซนส์ มีเดีย เปิดเผยกับรอยเตอร์สว่า ในช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้เกิดแคมเปญ #StopHateforProfit โดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้บริษัทยักษ์บอยคอตการโฆษณาบนเฟซบุ๊ก เนื่องจาก “เฟซบุ๊กล้มเหลวในการจัดการกับข้อความที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากบนแพลตฟอร์ม”

โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แคมเปญ #StopHateforProfit ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว หลังจาก “ยูนิลีเวอร์” ยักษ์ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคระดับโลกได้ประกาศงดซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊กไปจนถึงสิ้นปี 2020 รวมถึง “เวอริซอน” บริษัทโทรคมนาคมข้ามชาติรายใหญ่ ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 160 บริษัทแล้วที่เข้าร่วมแคมเปญ อาทิบริษัทเสื้อผ้าอย่าง เดอะ นอร์ท เฟซ, ปาตาโกเนีย, ลีวาย สเตราส์, อาร์อีไอ และแจนสปอร์ต

รวมถึงแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่อย่าง โคคา-โคลา, เบนแอนด์เจอร์รีส์ และเฮอร์ชีย์ส ไปจนถึงเชน ร้านกาแฟรายใหญ่อย่าง “สตาร์บัคส์” และ “ฮอนด้า” ค่ายรถยนต์ของญี่ปุ่นที่เข้าร่วมแคมเปญบอยคอตครั้งนี้ด้วย

เฟซบุ๊กถือเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์รายใหญ่ของโลก และในปี 2019 เฟซบุ๊กมีรายได้จากการโฆษณาสูงถึง 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรายได้ราว 1 ใน 4 มาจากกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้

บลูมเบิร์กรายงานว่า แคมเปญบอยคอตโฆษณาครั้งนี้ทำให้รายได้จากการโฆษณาของเฟซบุ๊กลดลงอย่างมาก และวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ราคาหุ้นของเฟซบุ๊กลดลงถึง 8.3% ทำให้มูลค่าตามราคาตลาดลดลงถึง 56,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” มีมูลค่าทรัพย์สินลดลงกว่า 7,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“แคโรลีน เอเวอร์สัน” รองประธานกลุ่มธุรกิจระดับโลกของเฟซบุ๊กระบุว่า บริษัทเคารพการตัดสินใจของพันธมิตร และจะยังคงมุ่งมั่นไปที่การลดข้อความเฮตสปีช “การสื่อสารและการประสานงานร่วมกับนักการตลาดและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน จะเป็นวิธีการที่เราสามารถผลักดันสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นได้”

ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กออกมาระบุว่าจะเริ่มแสดงแถบแจ้งเตือนรูปแบบใหม่ เกี่ยวกับเนื้อหาที่ละเมิดนโยบายของบริษัท รวมทั้งจะมีนโยบายลบโฆษณาที่แสดงการคุกคามที่เชื่อมโยงกับประเด็นด้านเชื้อชาติ ศาสนา ความหลากหลายทางเพศ และสถานะผู้อพยพด้วย แต่ดูเหมือนว่าการตอบสนองของเฟซบุ๊กยังไม่เพียงพอที่จะเรียกศรัทธาจากกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่กลับมาได้