“ตลาดหุ้นฮ่องกง” สมรภูมิใหม่ โบรกฯ จีนเปิดศึกแย่งลูกค้า หั่นค่าคอมฯ เหลือ 0%

(Photo by ISAAC LAWRENCE / AFP)

ฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค กำลังกลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อบริษัทสัญชาติจีนชั้นนำ ทยอยย้ายฐานระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ มาจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ซึ่งเป็นแรงดึงดูดให้นักลงทุนทั่วโลกและนักลงทุนจากจีนจำนวนมากเข้ามาซื้อขายที่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (เอชเคอีเอ็กซ์)

เรียกได้ว่า “ฮ่องกง” ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์จากจีนในการขยายธุรกิจเข้าสู่ศูนย์กลางทางการเงินแห่งนี้ ขณะที่การแข่งขันของโบรกเกอร์หุ้นในฮ่องกงก็รุนแรงอยู่แล้ว

ดังนั้นโบรกเกอร์จากจีนจึงเปิดสงครามราคาเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด บลูมเบิร์กรายงานว่า “หัวไท่ อินเตอร์เนชั่นแนล” (Huatai International) โบรกเกอร์ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ “หัวไท่ ไฟแนนเชียลส์ กรุ๊ปส์”โบรกเกอร์ยักษ์ใหญ่อันดับที่ 3 ของจีน ได้ลดค่าคอมมิสชั่นซื้อขายหุ้นลงสู่ระดับ 0% เมื่อเดือน มิ.ย. ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของตลาดหุ้นฮ่องกงที่มีการแข่งขันราคารุนแรงมากขนาดนี้

โดย “หัวไท่ อินเตอร์เนชั่นแนล” จะเรียกเก็บเพียงค่าบริการ 8 ดอลลาร์ฮ่องกง/เดือน ซึ่งการลดค่าคอมมิสชั่นเหลือ 0% ได้สร้างแรงกดดันอย่างมหาศาลต่อบริษัทอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โบรกเกอร์ขนาดเล็ก”

สำหรับธุรกิจหลักทรัพย์ฮ่องกงมีสภาพตลาดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ มีโบรกเกอร์ขนาดเล็กจำนวนมาก โดยนับตั้งแต่เมื่อปี 1980 ธุรกิจหลักทรัพย์ของฮ่องกงเติบโตเป็นอย่างมาก โดยมีโบรกเกอร์รายย่อยกว่า 900 แห่ง ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 40% เมื่อปี 2000

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากเทรนด์ที่นักลงทุนส่วนใหญ่หันไปซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้รายได้จากค่าคอมมิสชั่นของโบรกเกอร์ลดลงเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้การพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ยังมีต้นทุนที่สูง ซึ่งมีเพียงบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่สามารถรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ ดังนั้นบริษัทโบรกเกอร์ขนาดเล็กจึงค่อย ๆ ล้มหายตายจากไป จนในปัจจุบันเหลือโบรกเกอร์ขนาดเล็กเพียงราว 500 แห่งเท่านั้น ซึ่งครอบครองส่วนแบ่งตลาดเพียง 7% ซึ่งลูกค้าของโบรกเกอร์เหล่านี้แทบทั้งหมดเป็นนักลงทุนรายย่อย

ขณะที่การลดค่าคอมฯสู่ระดับ 0% ของหัวไท่จะยิ่งผลักดันให้โบรกเกอร์รายเล็กเหล่านี้ออกจากตลาดมากขึ้น โดยปัจจุบันค่าเฉลี่ยคอมมิสชั่นอยู่ที่ระดับ 0.073%

ในกรณีดังกล่าว “กอร์ดอน ซุย” ประธานสมาคมหลักทรัพย์ฮ่องกงชี้ว่า ค่าคอมมิสชั่นที่ระดับดังกล่าว โบรกเกอร์ขนาดเล็กที่มีช่องทางการหารายได้เพียงทางเดียวจากค่านายหน้า จะไม่สามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายได้

“เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์” รายงานอ้างอิงข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (เอชเคอีเอ็กซ์) ซึ่งเปิดเผยว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 มีโบรกเกอร์ขนาดเล็กที่ยุติกิจการไปแล้วกว่า 23 แห่ง ซึ่งมากกว่าปี 2019 ทั้งปีที่มีโบรกเกอร์ขนาดเล็กปิดกิจการ 22 แห่ง

ในปัจจุบันฮ่องกงมีโบรกเกอร์ยักษ์ใหญ่ 14 แห่ง ที่ส่วนใหญ่เป็นวาณิชธนกิจระดับโลก เช่น เอชเอสบีซี, โกลด์แมน แซกส์ และเจพี มอร์แกน เป็นต้น ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าครึ่ง และส่วนใหญ่เป็นลูกค้าสถาบัน ดังนั้นการเจาะตลาดกลุ่มนักลงทุนรายย่อยจึงเป็นกลยุทธ์ของ “หัวไท่” โดย “จู หย่าลี่” หัวหน้าแผนกเทคโนโลยีการเงินและลูกค้ารายย่อยของ “หัวไท่ อินเตอร์เนชั่นแนล” กล่าวว่า กลุ่มนักลงทุนรายย่อยยังมีช่องว่างที่โบรกเกอร์จากจีนจะสามารถเอาชนะคู่แข่งจากต่างประเทศได้ เนื่องจากบริษัทมีแพลตฟอร์มฟินเทคที่สามารถดึงดูดรายย่อยมากกว่า นอกจากนี้โบรกเกอร์ต่างชาติยังสนใจเฉพาะลูกค้าสถาบันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไม่มีเวลามาพะวงในส่วนนี้มากนัก

แม้ว่ากลยุทธ์ลดราคาของ “หัวไท่” จะมีต้นทุนที่ต้องจ่ายจากค่าคอมมิสชั่นที่จะหายไปจำนวนหนึ่ง เพื่อแลกกับส่วนแบ่งตลาด 7% จากบริษัทเล็กกว่า 500 แห่ง

อย่างไรก็ตาม “จู หย่าลี่” กล่าวว่า แม้ว่าบริษัทจะต้องสูญเสียรายได้จากค่าคอมมิสชั่นราว 150-250 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง แต่ก็พบว่าลูกค้าของหัวไท่ในช่วงเดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมากกว่าตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเสียอีก

โดยการทำสงครามราคาของ “หัวไท่” นอกจากจะสามารถดึงดูดลูกค้าในปัจจุบันได้แล้ว ยังเป็นการทำลายบริษัทคู่แข่งอีกด้วย “บลูมเบิร์ก” ชี้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างปักกิ่งและวอชิงตันจะส่งผลให้ตลาดหุ้นฮ่องกงน่าดึงดูดมากขึ้น

รายงานระบุว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2020 นักลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ ได้ทุ่มเงินลงไปในตลาดหุ้นฮ่องกงราว 35,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เมื่อปี 2017

นอกจากนี้บริษัทชั้นนำระดับโลกสัญชาติจีนจะหันมาจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงมากขึ้นอีกด้วย เช่น “เจดี ดอตคอม” รวมถึง “เน็ตอีส” เป็นต้น ดังนั้นนักลงทุนรายย่อย ชาวจีนทั้งในประเทศและทั่วโลกจะหันมาลงทุนในตลาดหุ้นของฮ่องกงมากขึ้น