ความตกลง ‘อาร์เซป’ ชัยชนะหลายต่อของจีน

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) หรือ “อาร์เซป” นั้น จีนเป็นผู้นำเสนอแนวความคิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2012

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จีนกับอีก 14 ชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมกันลงนามในความตกลงอาร์เซปที่ว่านี้ หลังเจรจาต่อรองในรายละเอียดกันนานถึง 8 ปี เพื่อเป็นพิธีการปิดฉาก “สเปเชียลซัมมิท” ของ 15 ชาติสมาชิก ซึ่งมีเวียดนามเป็นเจ้าภาพ

การลงนามดังกล่าวส่งผลให้รอเพียงการให้สัตยาบันรับรองของแต่ละประเทศอย่างเป็นทางการ ก็จะกลายเป็นการจัดตั้งเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานี้ขึ้นมา

อาร์เซปครอบคลุม 15 ประเทศรวมทั้งประเทศไทยที่มีประชากรรวมกันคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของประชากรทั่วทั้งโลก ครอบคลุมเขตเศรษฐกิจที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) รวมกันแล้วราว 30% ของจีดีพีโลก

เปรียบเทียบกันแล้ว อาร์เซปมีขนาดของตลาดใหญ่โตกว่า “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” หรือ “CPTPP” ที่เหลือรอดมาจากการถอนตัวออกจากความตกลง “ทีพีพี” ของสหรัฐอเมริกาถึง 5 เท่าตัว มีมูลค่าการค้ารายปีและจีดีพีรวมมากกว่าถึงเกือบ 2 เท่า

เป้าหมายหลักของอาร์เซป คือการลดอัตราภาษีที่เรียกเก็บในการนำเข้าสินค้าซึ่งกันและกัน ซึ่งแต่เดิมก็ต่ำอยู่แล้วให้ต่ำลงไปอีก ทั้งนี้เพื่อต่อต้านลัทธิกีดกันทางการค้า นอกจากนั้นยังส่งเสริมสนับสนุนการลงทุน และเปิดให้การไหลเวียนของสินค้าและบริการทำได้สะดวกและเป็นเสรีมากยิ่งขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการค้าระหว่างประเทศลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า อาร์เซปเป็นชัยชนะหลายชั้นหลายต่อมากของจีน ประเทศที่เป็นทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออกมากที่สุดของภูมิภาคนี้ ชนิดที่จะบอกว่าได้ทั้งเงินได้ทั้งกล่องก็ไม่ผิดนัก

ในทางหนึ่ง อาร์เซปเอื้อให้จีนมีตลาดรองรับสินค้าของตนเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล มีลูกค้ารวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 2,200 ล้านคน ชนิดที่ทำให้จีนสามารถลดการพึ่งพาตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาลงได้มากมายนัก

ภายใต้ความขัดแย้งทางการค้าที่กลายเป็นสงครามการค้าที่รุนแรงถึงพริกถึงขิงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา มีคุณค่ามหาศาลมากในสายตาของผู้ผลิตชาวจีน

ที่สำคัญลำดับต่อมาก็คือ ด้วยความที่เป็นทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสินค้าสูงที่สุดในทั้ง 15 ประเทศ มีโอกาสไม่น้อยที่จะส่งผลให้จีนกลายเป็นผู้กำหนดวาระการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ โดยที่ไม่มีสหรัฐอเมริกาเข้ามาข้องแวะแต่อย่างใด

“แกเรท ลีเธอร์” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของแคปิตอล อีโคโนมิกส์ ประจำภูมิภาคเอเชีย บอกด้วยว่า อาร์เซปสามารถทำให้รัฐบาลจีนยืดอกประกาศอย่างเต็มตัวว่า จีนคือแชมเปี้ยนของความร่วมมือพหุภาคี สวนทางกับที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ดำเนินการในช่วงเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา

จะว่าไปแล้ว การถอนตัวของทรัมป์ออกจากความตกลงทีพีพีเมื่อปี 2017 รวมทั้งสงครามการค้าที่เกิดขึ้นตามมา คือปัจจัยที่เร่งรัดให้อาร์เซปเป็นรูปเป็นร่างและตกลงกันได้มากยิ่งขึ้น

อาร์เซปยังได้เครดิตในการดึงมหาอำนาจเศรษฐกิจในเอเชีย อย่างจีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น เข้ามารวมตัวอยู่ภายใต้ความตกลงเดียวกันได้เป็นครั้งแรก

ความตกลงอาร์เซป ยังรวมถึง 10 ชาติอาเซียนที่ได้ชื่อว่ามีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง และเป็นตลาดที่มั่งคั่งขึ้นมาอย่างรวดเร็ว มีประชากรรวมกันไม่น้อยกว่า 650 ล้านคน แต่กำลังถูกวิกฤตโควิด-19 โจมตีอย่างหนัก และกำลังแสวงหาและต้องการพลังใหม่ ๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียนให้ขยายตัวได้อีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่

ความตกลงอาร์เซป ไม่เคร่งครัดเข้มงวดในมิติด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิผู้ใช้แรงงาน สิ่งแวดล้อม หรือสิทธิทรัพย์สินทางปัญญามากมายเหมือนทีพีพี ทำให้สอดคล้องกับความต้องการของชาติสมาชิกที่มีความหลากหลายในระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ ตั้งแต่เมียนมา, สิงคโปร์, เวียดนาม และออสเตรเลีย

“เจฟฟรีย์ วิลสัน” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของศูนย์เพิร์ทยูเอสเอเชียในออสเตรเลีย จึงบอกว่า ในสถานการณ์แวดล้อมปัจจุบัน อาร์เซปจึงเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นที่ต้องการอย่างยิ่งของบรรดาชาติในภูมิภาคนี้ที่คาดหวังถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด

ในเวลาเดียวกันก็เป็นการบีบบังคับว่าที่ประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ของสหรัฐอเมริกากลาย ๆ ว่า จำเป็นต้องยกระดับ ปรับความสัมพันธ์กับชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้สูงขึ้นกว่าเดิมอีกมาก

หากวิตกทุกข์ร้อนกับอิทธิพลเหนืออาเซียนของจีนที่ทวีขึ้นตามลำดับเช่นนี้