นักลงทุนผวาหุ้นเทค หลังจีนสกัด “แอนท์กรุ๊ป”

Photo by STR / AFP) / China OUT

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 การแห่ลงทุนในบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง “อาลีบาบา” “เทนเซ็นต์” และ “เหม่ยถวน-เตี่ยนผิง” เป็นกระแสที่มาแรง จากความมั่นคงของธุรกิจและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วภายในจีน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับการลงทุนในบริษัทเหล่านี้ ผลพวงจากรัฐบาลจีนได้เข้ามาแทรกแซงบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เป็นครั้งแรก

ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า ความวิตกกังวลของนักลงทุนเริ่มขึ้นหลังทางการจีนสั่งระงับการขายหุ้นไอพีโอ “แอนท์ กรุ๊ป” ของ “แจ็ก หม่า” เพียง 2 วัน ก่อนถึงกำหนดไอพีโอ โดย “แอนท์ กรุ๊ป” ได้เตรียมเปิดเสนอขายหุ้น และมีนักลงทุนเข้ามาแห่จองซื้อถล่มทลายจนมีการคาดการณ์ว่าจะทุบสถิติไอพีโอใหญ่ที่สุดในโลกถึง 3.97 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม เพียง 2 วันก่อนจะมีการขายหุ้นไอพีโอในตลาดหุ้น จีนได้ “สั่งระงับ” การขายหุ้นกะทันหัน ซึ่งนักวิเคราะห์รายงานว่าเป็นผลจากการที่รัฐบาลได้เริ่มร่างกฎหมายป้องกันไม่ให้บริษัท “เทค” ยักษ์ใหญ่มีผลกระทบกับความมั่นคงของประเทศ

กฏหมายนี้จะกระทบต่อธุรกิจการปล่อยสินเชื่อของบริษัท “แอนท์ กรุ๊ป” อย่างมาก โดยทางการจีนกำหนดให้บริษัทฟินเทคที่ปล่อยสินเชื่อต้องมีเงินทุนสำรองอย่างน้อย 30% ของวงเงินที่ปล่อยกู้ ขณะที่แอนท์ กรุ๊ปมีทุนสำรองเพียง 2% เนื่องจากพึ่งเงินทุนจากธนาคาร หมายความว่าเมื่อกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้แอนท์ กรุ๊ปจะกลายเป็นบริษัทที่ทำผิดกฎหมายทันที

หลัง “แจ็ก หม่า” ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้ เขาได้โจมตีหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินรุนแรง สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ที่มองว่าอิทธิพลของแพลตฟอร์มการเงินดิจิทัลของแอนท์ กรุ๊ปอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงินของจีน จึงได้สั่งตรวจสอบการใช้แพลตฟอร์มการเงินดิจิทัลของแอนท์ กรุ๊ป นำมาสู่การสั่งระงับหุ้นไอพีโอดังกล่าว

นอกจากนี้ อีกสาเหตุที่นักลงทุนเริ่มถอดใจไม่อยากลงทุนมาจากการที่หน่วยงานกำกับดูแลจีนเริ่มร่างกฎหมาย “ป้องกันการผูกขาด” (antitrust law)ซึ่งมีการระบุไว้ว่า กฎหมายนี้จะเข้ามาป้องกันไม่ให้แพลตฟอร์มของบริษัทเทคโนโลยีดูแลผู้บริโภคไม่เท่าเทียมกัน

และป้องกันไม่ให้บริษัทบังคับธุรกิจรายย่อยให้ขายสินค้าให้ทางบริษัทเทคยักษ์ใหญ่เพียงอย่างเดียว รวมทั้งป้องกันกรณีที่แพลตฟอร์มบังคับให้ลูกค้าซื้อสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนซื้อสินค้าที่ต้องการซื้อจริงได้

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การร่างกฎหมายเป็นผลมาจากการที่ “อาลีบาบา” ขายสินค้าเกือบ 20% ของทั้งหมดในจีน

การร่างกฎหมายนี้เป็นครั้งแรกที่ทางรัฐบาลจีนเข้ามาแทรกแซงควบคุมบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ “สกอตต์ ยู” ผู้เชี่ยวชาญการต่อต้านการผูกขาด บริษัทที่ปรึกษากฎหมายซงลุน กล่าวและชี้แจงว่า ร่างกฎหมายส่งสัญญาณถึงจุดจบของ “ยุครุ่งเรืองเทค” และจะเข้ามาเปลี่ยนโครงสร้างของตลาดธุรกิจเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน

ซึ่งกฎหมายป้องกันการผูกขาดตามเทรนด์สหรัฐและสหภาพยุโรปที่เริ่มร่างกฎหมายป้องกันไม่ให้บริษัทเทคโนโลยีเข้ามาผูกขาดตลาดได้

ต้องจับตามองว่าหลังรัฐบาลจีนซึ่งเดิมไม่ยุ่งเกี่ยวกับบริษัทเทคโนโลยี แต่หลังรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของบริษัทเหล่านี้ก็เริ่มเข้ามาแทรกแซง จะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน