เมื่อเงินช่วยเหลือ ‘โควิด’ เป็น ‘เกมการเมือง’ สหรัฐ

หลังเจรจาทำข้อตกลงอยู่หลายเดือน ในที่สุดวุฒิสภาสหรัฐก็สามารถตกลงรายละเอียดว่าด้วย “มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19” (COVID Relief Package) วงเงินสูงถึง 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐได้สำเร็จ

“มิทช์ แมคคอนเนลล์” ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภากล่าวว่า ในที่สุดสมาชิกวุฒิสภาทั้งฝ่ายเดโมแครตและรีพับลิกันก็สามารถตกลงกันได้ และความช่วยเหลือกำลังจะไปถึงประชาชน ขณะเดียวกัน “ชัคค์ ชูเมอร์” ผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภากล่าวว่า ในที่สุดก็มีข่าวดีสำหรับประชาชนชาวอเมริกัน

แพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้จะถือว่ามีมูลค่าสูงที่สุด ตั้งแต่มาตรการ “CARES Act” หรือ (Coronavirus Aid, Relief and Economics Security Act) เมื่อช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาซึ่งมีมูลค่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมาตรการเยียวยาครั้งใหม่เข้ามาทันเวลาก่อนที่ความช่วยเหลือบางส่วนภายใต้มาตรการเดิมกำลังจะหมดอายุสิ้นปีนี้

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า มาตรการเยียวยาใหม่ยังไม่มีการรายงานออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่แหล่งข่าวทางสมาชิกวุฒิสภาได้เปิดเผยว่า ผู้ใหญ่และเด็กที่มีรายได้น้อยกว่า 75,000 ดอลลาร์ต่อปี จะได้รับเงิน 600 ดอลลาร์สหรัฐ (18,012 บาท) ต่อคน และรัฐจะมอบสวัสดิการช่วยเหลือบุคคลว่างงาน 300 ดอลลาร์สหรัฐต่ออาทิตย์

นอกจากนี้เงินก้อนนี้จะถูกแบ่งไปเป็นกองทุนสำหรับการช่วยเหลือธุรกิจรายย่อย 2.84 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ กองทุนช่วยเหลือสถานศึกษา 8.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ กองทุนช่วยเหลือค่าเช่าและผ่อนปรนหนี้ที่อยู่อาศัย 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ กองทุนช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบิน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และแบ่งไปช่วยเหลือการดูแลคุ้มครองเด็กและผู้เยาว์ กระบวนการขนส่งแจกจ่ายวัคซีนทั่วประเทศ และการช่วยเหลือด้านอื่น ๆ

อย่างไรก็ตามข้อตกลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ยืดเยื้อมาหลายเดือน เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภาทั้งฝ่ายพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน “ไม่สามารถตกลงกันได้” ทำให้กองทุนเงินช่วยเหลือคนทั้งประเทศกลายเป็น “เกมการเมือง” ที่ทั้งสองฝ่ายต้องการเอาชนะ

อัลจาซีร่ารายงานว่า ทางพรรคเดโมแครตไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ “แพท ทูมีย์” สมาชิกวุฒิสภาพรรครีพับลิกัน ซึ่งยกประเด็นมาว่าหากอนุมัติมาตรการเยียวยาครั้งใหม่ ไม่ต้องการให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่ออายุ “โครงการปล่อยสินเชื่อฉุกเฉิน” ที่จะหมดอายุปลายปีนี้ เนื่องจากมองว่ากองทุนช่วยเหลือครั้งนี้เข้ามาแทนที่ได้

ขณะที่ทางพรรคเดโมแครตแย้งว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นการเข้าไปแทรกแซงบทบาทของเฟด และลดประสิทธิภาพการทำงานของเฟดช่วงที่เศรษฐกิจเข้าขั้นวิกฤต และมองว่าเป็นการพยายามชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจก่อนที่ “โจ ไบเดน” ผู้นำพรรคเดโมแครตที่ชนะการเลือกตั้งสหรัฐเมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา จะเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐต้นปีหน้า

อย่างไรก็ดี วุฒิสภาสหรัฐจะคิดเห็นอย่างไรก็ตาม “เฟด” มีอำนาจต่อโครงการปล่อยสินเชื่อฉุกเฉินได้ ถึงแม้สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐอาจไม่เห็นด้วย

แต่ทั้งนี้เฟดตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เนื่องจากว่าถึงแม้จะมีอำนาจการต่อโครงการทั้งหมด แต่การหยิบนโยบายเฟดขึ้นมาเป็นข้อพิพาททำให้เฟดได้กลายเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” ให้กับทั้งสองฝ่ายของวุฒิสภา ซึ่งเป็นบทบาทที่เฟดพยายามหลีกเลี่ยงอย่างมาก

“คาเรน ดินาน” อดีตพนักงานธนาคารกลางสหรัฐและนักเศรษฐศาสตร์ประจำกระทรวงการคลังระบุว่า การยกนโยบายเฟดเข้ามาเกี่ยวข้องกับนโยบายของทางรัฐบาลไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ โดยเฟดต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งเฟดยังไม่มีการให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อพิพาทของทางวุฒิสภาสหรัฐ

นอกจากนี้ปัญหาสำคัญอีกประเด็นที่ทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ล่าช้า คือ “วิธี” การกระตุ้นเศรษฐกิจ ฝ่ายรีพับลิกันต้องการให้ปลดมาตรการล็อกดาวน์ และกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการให้ประชาชนออกไปซื้อสินค้าและบริการ โดยจะให้เงินช่วยเหลือแค่บางส่วน เช่น สนับสนุนการดำเนินงานของสถานศึกษาและการแจกจ่ายวัคซีน

ขณะที่ทางฝ่ายเดโมแครตต้องการที่จะมีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ เพื่อลดอัตราการระบาด และแจกเงินเยียวยาแก่บุคคลหรือครอบครัวที่ว่างงาน หรือกำลังมีปัญหาทางการเงิน ทำให้กระบวนการตกลงจำนวนเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปอย่างล่าช้า

นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังมีข้อโต้แย้งกันว่า จะมีการอนุมัติเงินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกี่ครั้ง เนื่องจากว่ากองทุน 9 แสนล้านดอลลาร์น้อยกว่าจำนวน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่ไบเดนและทางพรรคเดโมแครตเคยได้สัญญาไว้ ซึ่งไบเดนกล่าวว่า เมื่อเข้ามารับตำแหน่งจะมีการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ขณะที่ทางพรรครีพับลิกันมองว่าเงินก้อนนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะมีการอนุมัติเงินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

“จอห์น ทูน” สมาชิกวุฒิสภาพรรครีพับลิกันระบุว่า ถ้าหากอนุมัติเงินก้อนนี้ไปแล้ว และสถานการณ์เศรษฐกิจปีหน้าเริ่มที่จะดีขึ้น รัฐบาลไม่จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้ามาเพิ่ม

ถึงแม้มาตรการเยียวยาครั้งนี้จะรอแค่รัฐสภาสหรัฐและ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐอนุมัติเซ็นรับรอง แต่ประชาชนก็ไม่พอใจอย่างมากที่เงิน “ต่อชีวิต” ของพวกเขาต้องใช้เวลานานกว่าจะได้ความชัดเจนเนื่องจากว่าผู้บริหารประเทศมุ่งเล่นเกมการเมืองมากกว่ามาสนใจความเดือดร้อนของประชาชน